บุรีรัมย์ - ตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์เงียบเหงา ไม่มีเกษตรกร หรือชุมนุมสหกรณ์นำยางมาขายแม้แต่รายเดียว หลัง อสย.หยุดประมูลยางในโครงการมูลภัณฑ์กันชน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีผู้นำยางมาขายวันละกว่า 200 ตัน เนื่องจากได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด 8-10 บาทตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล เผย อสย.ยังค้างจ่ายเงินรับซื้อในโครงการฯ อีกกว่า 106 ล้าน
วันนี้ (11 มี.ค.) บรรยากาศที่ตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์ ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นไปอย่างเงียบเหงา ไม่มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการค้ายาง รวมถึงตลาดเครือข่ายหรือชุมนุมสหกรณ์ นำยางมาขายแม้แต่รายเดียว หลังจากองค์การสวนยาง (อสย.) ได้ออกประกาศหยุดประมูลยางใน “โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง” ซึ่งเป็น 1 ใน 16 มาตรการของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นฤดูกาลที่ยางผลัดใบ และรับซื้อยางในโครงการฯ ไว้ในปริมาณที่พอสมควรแล้ว
ทั้งนี้ ต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีเกษตรกร ผู้ประกอบการ และชุมนุมสหกรณ์จากภาคต่างๆ กว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ แห่ขนยางพาราแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันมาเข้าคิวรอขายวันละกว่า 200 ตัน เพราะเนื่องจากราคารับซื้อในโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ สูงกว่าราคาซื้อขายตามท้องตลาดกิโลกรัมละ 8-10 บาท แต่หากนำมาขายที่ตลาดกลางในช่วงนี้จะได้ราคาเท่ากับท้องตลาดทั่วไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 48-52 บาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ได้มีเกษตรกร และชุมนุมสหกรณ์โทรศัพท์มาสอบถามเงินที่รับซื้อยางในโครงการฯ ที่ทาง อสย.ยังค้างจ่ายอยู่กว่า 106 ล้านบาท วันละหลายราย
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้ยังมีเกษตรกร และชุมนุมสหกรณ์บางแห่งมียางพาราเหลืออยู่ในสต๊อกที่ยังไม่นำออกมาขาย เนื่องจากยังชะลอราคาให้สูงขึ้นตามกระแสข่าวที่ว่าจะได้สูงถึงกิโลกรัมละ 80 บาทอยู่บางส่วน
ด้านนายทวีศักดิ์ อนุศิริ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ วันที่ 9 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา จนถึง มี.ค. 2558 ที่ อสย.ประกาศหยุดประมูลยาง ได้มีเกษตรกร ชุมนุมสหกรณ์ และผู้ประกอบการ นำยางพาราแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันมาขายที่ตลาดกลางบุรีรัมย์ รวมทั้งสิ้น 13,490,191 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ายางที่รับซื้อ 792,832,517 บาท ในจำนวนนี้ อสย.ยังค้างจ่ายอยู่กว่า 106 ล้านบาท