xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง จัดงาน “มหกรรมตรวจดิน” ฟรี ช่วยชาวนาชัยนาทลดต้นทุนการผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง ตำบลหางน้ำสาคร จังหวัดชัยนาท ร่วมกับแกนนำเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสัก และเครือข่ายกก-อิง-ลาว จากเชียงราย จัด “มหกรรมตรวจดิน” ฟรี ช่วยชาวนาชัยนาทลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 700 บาทต่อไร่

วันนี้ (24 ก.พ.) นายเจิดศักดิ์ นิลอุบล นายอำเภอมโนรมย์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมตรวจดิน ที่โรงเรียนสาครพิทยาคม ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท โดยศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง ต.หางน้ำสาคร ร่วมกับแกนนำเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสัก และเครือข่ายกก-อิง-ลาว จาก จ.เชียงราย จัดทำขึ้นโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้รู้ถึงธาตุอาหารในดินของตนเพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิต

ทั้งยังเป็นการสร้างเกษตรกรอาสาสมัครตรวจดินให้มีความรู้ สามารถตรวจวิเคราะห์ดิน และแนะนำการใช้ปุ๋ยให้แก่คนในชุมชนได้ เพื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง และนำไปสู่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน

โดยมีเกษตรกรอาสาสมัครตรวจดิน นำเครื่องมือ และชุดตรวจวิเคราะห์ดินมาบริการรับตรวจดินฟรีให้แก่เกษตรกร มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านการปลูกพืชแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 200 คน

น.ส.ภิรานันท์ ระดี ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง กล่าวว่า จังหวัดชัยนาท มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน มีการทำนาปีหนึ่งเกินกว่าหนึ่งล้านไร่ โดยชาวนาในจังหวัดชัยนาท ได้รับความช่วยเหลือเรื่องการผลิตพืชจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลตลอดมา แต่ต้นทุนการผลิตยังคงสูงมาก

รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรค และแมลงศัตรูพืช ผลผลิตที่ได้รับไม่มีประสิทธิภาพทั้งปริมาณและคุณภาพ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงประสบภาวะขาดทุน เกิดปัญหาหนี้สินรุมเร้าจนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง จึงได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ดินก่อนลงมือปลูกข้าวเพื่อการลดปริมาณการใช้ปุ๋ย โดยได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท และ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 700-800 บาทต่อไร่

อีกทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ไม่เพียงลดต้นทุนจากปุ๋ยเคมีเท่านั้น ยังช่วยลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ลดการใช้สารเคมี ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้รับมีประสิทธิภาพดีทั้งปริมาณ และคุณภาพ แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องนำดินไปวิเคราะห์เพื่อให้รู้คุณสมบัติของดินก่อนที่จะเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหายไปจากดินนั้นๆ เมื่อปลูกพืช ซึ่งการวิเคราะห์ดินก่อนปลูก จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน






กำลังโหลดความคิดเห็น