อ่างทอง - ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตรในเมืองอ่างทองครวญ ปัญหาภัยแล้งกระทบหนัก ส่งผลยอดขายสินค้าทางการเกษตรลดลงกว่าครึ่งจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรหยุดทำการเพาะปลูก
วันนี้ (24 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าทางการเกษตร ตามร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรในตลาดเกษตรสุวพันธุ์เมืองอ่างทอง ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง หลังจากชลประทานได้หยุดจ่ายน้ำมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ประกอบกับขณะนี้ทุกพื้นที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้เกษตรกรหลายรายต้องหยุดทำการเพาะปลูกพืชผล เนื่องจากไม่มีน้ำ และมีบางส่วนที่ยังใช้น้ำบาดาลในการเพาะปลูกพืช
จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ในตลาดเกษตรสุวพันธุ์ เมืองอ่างทอง ผู้ประกอบการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยอดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรปี 2558 นี้ ลดลงกว่าปี 2557 ที่ผ่านมากว่าครึ่ง โดยบางร้านบอกว่า ปกติในช่วงเดียวกันในปี 2557 ทางร้านจะขายได้วันละ 20,000-30,000 บาท แต่มาปี 2558 นี้ ยอดกลับลดลงอย่างน่ากลัวโดยขายได้วันละกว่า 10,000 บาทเท่านั้น
นายอุดร เกศสระไทย อายุ 29 ปี พนักงานขายร้านค้าศรแดงการเกษตร ในตลาดเกษตรสุวพันธุ์เมืองอ่างทอง ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า หลังเกิดปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตร จึงส่งผลต่อการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรไปด้วย ทำให้ยอดจำหน่ายลดลงกว่าครึ่งจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรได้หยุดทำการเกษตรกร เนื่องจากไม่มีน้ำ ส่วนที่ยังทำการเพาะปลูกอยู่ก็จะใช้น้ำบาดาลที่เจาะขึ้นมาทำการเพาะปลูกกันเอง
“ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ผัก ต้นกล้า รวมทั้งปุ๋ย และอุปกรณ์ที่เกี่ยวต่อการเพาะปลูกแทบขายไม่ได้เลย” นายอุดร เกศสระไทย อายุ 29 ปี พนักงานขายร้านค้าศรแดงการเกษตร กล่าว
สำหรับจังหวัดอ่างทอง ได้ชื่อว่า “เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แห่งที่ราบภาคกลาง” เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย อีกทั้งยังมีลำคลองสาขาจำนวนมาก และระบบชลประทานมีอยู่ทั่วไปทั้ง 7 อำเภอ 73 ตำบล 484 หมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างมาก
แต่ปรากฏว่า ในปีนี้เมื่อเกิดภาวะน้ำแห้งแล้งหลังจากชลประทานหยุดจ่ายน้ำทำนา รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือจึงมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร และผลผลิตจากไร่นาเสียหาย ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีพของชาวอ่างทองไปด้วย