xs
xsm
sm
md
lg

ม.พะเยาจับมือ ONR USA เปิดศูนย์พลังงานทดแทน เดินหน้าผุด Smart Grid-Smart home ต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พะเยา - วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.พะเยา ร่วมกับ ONR USA เปิดศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทน เล็งผุดโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และบ้านอัจฉริยะ (Smart home) ในอนาคต

รายงานข่าวแจ้งว่า มหาวิทยาลัยพะเยา โดยวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ office of naval research สหรัฐอเมริกา เปิดศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน และสิ่งแวดล้อมขึ้นในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนแก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่

ผศ.ดร.ณภัทร จักรวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 เป็นหน่วยงานสังกัดวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนจาก ONR USA มีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ

1. ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม 2. เผยแพร่องค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม และ 3. การบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม ซึ่งได้จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อให้ความรู้การใช้พลังงานทดแทนอย่างคุ้มค่า และสอดคล้องซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องของโครงสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ที่สร้างขึ้นจากวัสดุที่ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และราคาถูก เนื่องจากวัสดุที่นำมาก่อสร้างเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งดิน และตอซังข้าวในนา รวมถึงวัสดุมุงหลังคา การปลูกหญ้า หรือพืชบนหลังคาที่กันความร้อนได้ดีเยี่ยม ถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชุมชน เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงานหลัก หันกลับไปใช้พลังงานทดแทน อันจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิต รวมถึงผู้ที่สนใจโดยทั่วไปด้วย ทั้งยังเป็นแหล่งการวิจัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ เบื้องต้นในศูนย์การเรียนรู้มีงานวิจัยทางด้านการผลิตพลังงานจากขยะ และชีวมวล ซึ่งเป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 30 KW จากเศษขยะ เศษวัชพืชในชุมชน อนาคตจะทำเป็นโมบายล์ยูนิตออกไปผลิตกระแสไฟฟ้าถึงแหล่งพลังงานในชุมชนด้วย

“นอกจากจะเป็นการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ประชาชนยังมีความรู้ในเรื่องของการจัดการขยะในชุมชนของตนเองด้วย”

ผศ.ดร.ณภัทรกล่าวว่า ในอนาคตศูนย์แห่งนี้จะมีระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ Smart Grid หรือโครงการโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (Distributed Energy Resource : DER) และระบบบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งให้บริการแก่ผู้เชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ มีคุณภาพไฟฟ้าได้มาตรฐานสากล

รวมถึงระบบ Smart home หรือบ้านอัจฉริยะ คือการใช้เทคโนโลยีมาควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย มีระบบการจัดการพลังงาน ระบบรักษาความปลอดภัยอัตโนมัติทั้งภายในและรอบตัวบ้าน ส่วนใหญ่จะควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยทั่วไปเรียกว่า home automation ด้วย

“ทั้งสองระบบนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้อย่างแน่นอน”




กำลังโหลดความคิดเห็น