เชียงราย - “ธรรมกาย” ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง หลังทหาร ตำรวจตรวจยึดสถานที่ก่อสร้างภูเจดีย์ บ้านร่มฟ้าไทย อ.เทิง ใกล้ภูชี้ฟ้า ด้าน กอ.รมน.เตรียมขยายผลทวงคืนผืนป่าในพื้นที่ความมั่นคง
วันนี้ (16 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.เชียงราย ตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ฝ่ายปกครอง อ.เทิง สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 326 สภ.เทิง สนธิกำลังกันเข้าตรวจยึดสถานที่ก่อสร้างภูเจดีย์ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 79 ตารางวา บ้านร่มฟ้าไทย ม.24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยทราบกันในพื้นที่ว่าเป็นของพระสายวัดพระธรรมกายนั้น ปัจจุบันเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างขยายผล เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่อิงฝั่งขวา และป่าแม่งาว
ล่าสุดทหารยังคงวางกำลังกันพื้นที่เอาไว้ ขณะที่ภายในปรากฏสิ่งปลูกสร้างเป็นการวางเหล็กเส้นวงกลมขนาดใหญ่ที่เตรียมก่อเป็นฐานทรงกลม และเจดีย์ที่มีการออกแบบเป็นรูปทรงสูงจากฐาน 16.383 เมตร และยังมีกองเสาเข็มยาวประมาณ 8 เมตร เครื่องผสมคอนกรีต อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างเอาไว้ โดยที่ไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของ
ข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันทางวัดพระธรรมกายได้มีการเผยแพร่เว็บไซต์ในส่วนของข่าวประชาสัมพันธ์หัวข้อ “วัดพระธรรมกายปฏิเสธข่าวสร้างเจดีย์ที่เชียงราย” โดยระบุเนื้อหาว่า “คสช.สั่งจับ สร้างเจดีย์ สายธรรมกาย บนยอดดอยที่เชียงราย วัดพระธรรมกายขอชี้แจงว่าการสร้างเจดีย์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย จึงเจริญพรมา และช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชนด้วย จักขอบคุณยิ่ง ลงชื่อพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร”
พล.ต.พรชัย ดุริยพันธ์ รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จ.เชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดสรรให้เป็นหนังสือรับรองการเข้าอยู่อาศัย และทำกินในที่ดินชั่วคราว ตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น-ดอยผาจิ จ.เชียงราย-พะเยา เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบตามแนวชายแดนในอดีตได้มีที่ทำกิน
ต่อมาปี 2543 กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบให้กรมป่าไม้เข้าไปดูแลต่อ โดยมีเงื่อนไขให้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร และไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ แต่ปรากฏว่ากรณีสร้างเป็นภูเจดีย์ โดยมีผู้นำชุมชนคนหนึ่งที่ถือครองที่ดินตามโครงการตั้งแต่ปี 2535 นำที่ดินไปให้ผู้อื่นสร้างเจดีย์ เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้และฝ่ายปกครองทราบจึงเข้าไปตักเตือน แต่ก็ไม่ยอมหยุดจึงต้องเข้าตรวจยึด
พล.ต.พรชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้นโยบายชัดเจนว่า กรณีอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแล้วนำไปทำธุรกิจ เช่น สร้างรีสอร์ต หรือทำผิดวัตถุประสงค์ ให้มีการดำเนินการตามกฎหมายทันที กรณีนี้ถือว่าเข้าข่ายเพราะมีการนำที่ดินตามโครงการไปให้บุคคลอื่นใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ และผลพวงจากการตรวจยึดครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่พบว่าในพื้นที่ยังมีปัญหาลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก
โดยพบมีการเปลี่ยนมือผู้ถือเอกสารตามโครงการ บางคนมีที่ดินทำกินคนเดียว 2 แปลง ทั้งที่โครงการกำหนดให้มีสิทธิคนละ 1 แปลง มีการซื้อขาย เปลี่ยนมือ สร้างรีสอร์ตที่ต้องสงสัยอย่างน้อย 3 แห่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและป่าไม้กำลังรวบรวมข้อมูลจากการที่กองทัพภาคที่ 3 เคยมอบให้ชาวบ้านในอดีต ซึ่งมีการกำหนดจำนวนแปลง ผู้มีสิทธิ จำนวนไร่เอาไว้แล้วอย่างชัดเจน จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุกแปลง
“จะใช้มาตรการตั้งแต่เบาไปหาหนัก หากพบใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือเปลี่ยนมือจะให้ผู้ถือครองนำหลักฐานมาแสดง หากไม่สามารถแสดงได้ก็จะตรวจยึดคืนให้กรมป่าไม้ เพื่อบริหารเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามปกติไป คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน เบื้องต้นได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดีมาก แต่มีไม่กี่คนที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่พอใจ แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการ เพื่อให้คนดีๆ มีกำลังใจและเชื่อมั่นในกองทัพในรัฐบาล ตามนโยบายของ คสช.ดังกล่าว”
รายงานข่าวแจ้งว่า การสร้างภูเจดีย์มีการแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งของผู้นำชุมชนคนหนึ่งใน ต.ตับเต่า ซึ่งเป็นที่ดินตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง โดยผู้นำคนดังกล่าวให้เหตุผลกับเจ้าหน้าที่ในทางลับว่า เพื่อให้เป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณทางพระพุทธศาสนา เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่ดินในโครงการไม่สามารถแบ่งให้ผู้อื่นได้ ผู้นำชุมชนคนเดียวกันก็อ้างว่ายังมีสำนักปฏิบัติธรรมรายอื่นเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าสงวนแห่งชาติได้เหตุใดจึงไม่เข้าไปดำเนินการ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าสถานที่อื่นมีการขออนุญาตจากกรมป่าไม้ หากรายใดที่ยังไม่ได้อนุญาตก็ได้ขอหยุดก่อสร้างเอาไว้แล้ว ซึ่งทุกรายยินยอมปฏิบัติตาม เหลือแต่ที่ภูเจดีย์เพียงแห่งเดียว ที่นอกจากจะไม่ได้ขออนุญาตและทำผิดวัตถุประสงค์แล้ว ยังโหมก่อสร้างอย่างหนัก โดยเริ่มมีการเทคอนกรีตตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในเวลา 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังสืบทราบอีกว่าผู้นำชุมชนคนดังกล่าวได้ขายที่ 1 ไร่กว่าดังกล่าวไปให้แก่บุคคลอื่นในราคาประมาณ 3 ล้านบาทแล้ว ทำให้การก่อสร้างในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของบุคคลอื่น เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตักเตือนผู้นำชุมชนจึงไม่มีใครยอมรับฟัง รวมทั้งมีรายงานถึงขั้นที่ว่าคนระดับฝ่ายปกครอง อ.เทิงยังถูกผู้เกี่ยวข้องบางคนขู่จะโยกย้ายออกจากพื้นที่ หรือต่อรองให้ผลประโยชน์ ทำให้ทาง กอ.รมน.จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนธิกำลังกันเข้าไปตรวจยึดและขยายผลบริเวณภูชี้ฟ้าในที่สุด