xs
xsm
sm
md
lg

เพศที่ 3 แห่ร่วมเวทีคึกคัก ชง สปช.ออกกฎหมาย-เปิดทาง “นาย” แต่งหญิงรับปริญญาได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายเพศสภาวะร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเพศที่สามครั้งแรกในประเทศไทยที่เชียงใหม่คึกคัก เรียกร้องสภาปฏิรูปฯ ดันกฎหมายรองรับเพศที่สาม เปิดทางสืบทอดมรดก-แต่ง “หญิง” รับปริญญาได้-แก้ข้อความใน สด.43 หลังทำให้ถูกมองเป็นโรคจิต พร้อมเรียกร้องให้สร้าง “ห้องน้ำเฉพาะ” ในที่สาธารณะ จี้สื่อใช้คำที่เหมาะสม

เครือข่ายออนไลน์รับใช้แผ่นดิน ร่วมกับเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเพศที่สาม เพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่โรมแรมเมอร์เคียว อ.เมืองเชียงใหม่ โดยมี ดร.จุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จ.เชียงใหม่ เข้าร่วมรับฟังด้วย

นายนที ธีระโรจนพงษ์ ประธานกลุ่มเชียงใหม่อารยะ บอกว่า เวทีนี้ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเพศที่สามอย่างเสรี และเปิดโอกาสให้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสมอภาคในสังคม เพื่อนำเข้าไปในกระบวนการของสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป

โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นเพศที่สามที่เข้าร่วมเวทีได้เสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เช่น ต้องการให้มีกฎหมายรองรับเพศที่สามอย่างชายรักชาย หรือหญิงรักหญิงมากขึ้น เพื่อในอนาคตเมื่อตนเอง หรืออีกฝ่ายจากไปจะมีสิทธิ์ได้รับมรดกที่ร่วมสร้างกันมาตลอดระยะเวลาที่ได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการยอมรับด้านการแต่งกายในเครื่องแบบนักศึกษาที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะถูกกีดกันจากทางมหาวิทยาลัย ที่ไม่ยอมรับสำหรับบัณฑิตที่ใช้คำนำหน้านามนายแต่แต่งกายเป็นผู้หญิง

นายนทีได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ควรจะเปิดโอกาสให้กลุ่มเพศที่สามได้รับสิทธิในการเข้าพระราชทานปริญญาเหมือนกับบัณฑิตคนอื่นๆ เพราะการที่เราจะไปปกปิดความเป็นเพศสภาพนั้นถือว่าเป็นการปกปิดพระมหากัตริย์ ซึ่งเปรียบเสมือนว่า เป็นการสั่งสอนให้บัณฑิตโกหกคนภายนอกตั้งแต่เริ่มใช้ชีวิตทำงานวันแรก

ส่วนด้านการทำงานนั้น กลุ่มเพศที่สามที่ร่วมเวทีมองว่า มีการจำกัดเพศในบริษัทที่รับงาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเพศที่สาม เพราะการสมัครงานในแต่ละครั้ง เมื่อผู้รับสมัครเห็นคำนำหน้านามว่า “นาย” ก็จะปฏิเสธบุคคลที่เป็นเพศที่สามทันที ถือเป็นการกีดกันกลุ่มเพศที่สามเป็นอย่างมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่การหางานทำของเพศทางเลือกนั้นจะเป็นงานให้บริการ เช่น งานเต้น คาบาเร่โชว์ที่เชียงใหม่ และจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ เป็นต้น

ด้านการนำเสนอข่าว ทางกลุ่มเพศที่สามเสนอความคิดเห็นว่า การเสนอข่าวบางข่าว อยากให้ใช้ถ้อยคำที่เท่าเทียมกันกับเพศอื่นๆ และให้เคารพสิทธิของเพศที่สามด้วย เช่น ข่าวกะเทยปล้นร้านทอง หรือกะเทยเมาเหล้ามอมชาวต่างชาติ ซึ่งบางคำที่สื่อมวลชนใช้นั้นอาจจะรุนแรงและกระทบกระเทือนจิตใจกลุ่มเพศที่สามมาก

นอกจากนี้ กลุ่มเพศทางเลือกยังได้เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผลักดันเรื่องการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้เพศที่สามมากขึ้น เช่น ห้องน้ำของเพศที่สามตามสถาศึกษา หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่เคยมีหน่วยงานไหนทำ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ทางกลุ่มเพศที่สามมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

ด้านรับบริจาคโลหิตของเพศที่สามก็มักจะถูกกีดกันจากทางโรงพยาบาล หรือสภากาชาดไทย เพราะอาจจะมองว่าเพศที่สามมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV เมื่อกลุ่มเพศที่สามจะเข้าไปบริจาคเลือดก็จะถูกคัดค้านอย่างสิ้นเชิง เพราะถือว่าเลือดที่จะบริจาคนั้นอาจจะทำให้ผู้ได้รับการบริจาคเลือดเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุใน สด.43 เมื่อเพศที่สามเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ที่มีการระบุว่า เป็นบุคคลที่มี “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” เพราะเมื่อนำ สด.43 ไปสมัครงาน ทางผู้รับสมัครจะไม่ค่อยยอมรับกับคำที่เขียนลงไป เนื่องจากถือว่าเหมือนเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ที่ดูแล้วไม่เหมาะสมกับการทำงาน

ด้าน ดร.จุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ก็ถือเป็นเรื่องดีที่กลุ่มเพศที่สามออกมาแสดงความคิดเห็น และเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเพศที่สามได้เรียกร้องสิทธิเพื่อให้เท่าเทียมกับเพศอื่นๆ ซึ่งอยากให้มองถึงเพศสภาวะในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่า จะมีแนวทางพัฒนาสิทธิเสรีภาพอย่างไรบ้างด้วย

“การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มเพศที่สามครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งอาจจะมีการประชุมรับฟังคิดเห็นแบบนี้อีกตามหัวเมืองใหญ่ๆ เพราะถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีเพศสภาวะได้ออกมาเรียกร้องสิทธิของตน” ดร.จุไรรัตน์กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น