ศูนย์ข่าวศรีราชา - วิศวกรบริษัทรับเหมาอุโมงค์ลอดทางแยกพัทยากลาง แจงกลางที่ประชุมสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยว ชี้เป็นการตัดยอดเนินทำอุโมงค์ ไม่มีโอกาสน้ำท่วม พร้อมเล็งทำ “พ็อกเกตเลน” หาจุดรถทัวร์ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ระดมสมองวางแนวทางระบายรถ
วันนี้ (11 ก.พ.) ในการประชุมสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมแกรนโซเล่ พัทยา จ.ชลบุรี ที่มี นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร นายกสมาคมเป็นประธานการประชุมนั้น ได้มีการพูดคุยในวาระที่ 3 เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางลดระดับ บริเวณแยกสุขุมวิท พัทยากลาง โดย พ.ต.อ.พิสิฎฎ์ โปรยรุ่งโรจน์ รอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ซึ่งมีหน้าที่รับผิดด้านการจราจร เผยว่า ตำรวจจราจรในโรงพักที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ ทั้ง สภ.บางละมุง และ สภ.เมืองพัทยา ได้วางแผนในการจัดการจราจรช่วงดำเนินโครงการเพื่อจัดระเบียบการระบายรถ ที่ผ่านมา ก็ได้มีการออกแบบเส้นทางการจราจรในช่วงดังกล่าวไปแล้ว โดยขณะนี้เมืองพัทยา เร่งทำการประชาสัมพันธ์อยู่อย่างต่อเนื่อง
ด้านตัวแทนจากกรมทางหลวงชนบท เจ้าของโครงการเผยว่า รูปแบบการจราจรมีการวางแผนให้ไม่สามารถจอดรถริมถนนสุขุมวิทได้ตลอดช่วงระยะทางที่มีการก่อสร้าง แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากเป็นห่วงว่า กลุ่มรถทัวร์รับส่งนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวเพิ่มสาเหตุทำให้การจราจรติดขัดยิ่งขึ้น เพราะหวั่นว่าจะมีการจอดซ้อนคันบนถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นถนนหลัก ตรงนั้นได้วางแผนทำพ็อกเกตเลน โดยก่อสร้างพื้นที่จอดชั่วคราวเข้าไปในทางเท้าเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร โดยจะประสานผู้ประกอบการ และห้างที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างพิจารณาร่วมกันกำหนดจุด ซึ่งตามกำหนดที่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างนั้น ทางกรมทางหลวงชนบท ยังไม่ลงพื้นที่ทันที เพียงแค่รับมอบพื้นที่เท่านั้น จะดำเนินการจริงหลังวันดังกล่าว ซึ่งมีการวางแผนการทำงานไว้แล้ว
ขณะที่วิศวกรบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการอุโมงค์ลอดทางแยกพัทยากลาง กล่าวว่า คำถามที่เจอบ่อยคือ หากขุดอุโมงค์แล้วจะทำให้เกิดน้ำท่วมหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา หากมีฝนตกอย่างหนักจะทำให้การระบายน้ำไม่ทันมาโดยตลอด หากเกิดน้ำท่วมอุโมงค์จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา อยากชี้แจงว่า ตามความคิดของคนทั่วไปคิดว่าบริเวณโครงการเป็นแอ่งกระทะ แต่ความจริงพื้นที่โครงการนั้น การเจาะอุโมงค์เป็นแบบการตัดยอดเนิน และใช้ระบบระบายน้ำภายในแบบแรงโน้มถ่วง ซึ่งมีความสูงกว่าพื้นที่ถนนจุดต่ำสุดในระยะ 3 เมตร ซึ่งหมายความว่าหากจะมีน้ำท่วมอุโมงค์จริงปริมาณน้ำก็ต้องท่วมสูงกว่าถนนจริงกว่า 3 เมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
นายชาคร กัญจนวัตตะ นายอำเภอบางละมุง กล่าวว่า ช่วงการก่อสร้างโครงการอยากให้คำนึงเรื่องความปลอดภัย ควรทำป้ายแจ้งเตือน รวมถึงป้ายบอกความคืบหน้าของโครงการมาติดตามจุดตัด หรือแยกสำคัญ เพื่อที่จะให้ผู้ใช้ถนนสามารถรับทราบเส้นทางข้างหน้าได้ ตรงจุดนี้นอกจากจะได้เรื่องความความคล่องตัวของการจราจรแล้ว ยังช่วยในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนช่วง 810 วัน ของการก่อสร้างโครงการด้วย