พิจิตร - พ่อเมืองชาละวันนำทีมพิสูจน์โรงเรียนชาวนา สอนชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์ต้นทุนต่ำไร่ละพันทำได้จริง เผยเปิดสอนมาแล้ว 5 รุ่น มีชาวนารุ่นใหม่หัวก้าวหน้าเรียนแล้วกว่า 500 คน ได้สารพัดวิธีลดน้ำแกล้งข้าว ทำปุ๋ย ฮอร์โมน สารไล่แมลงใช้เอง ดำนากล้าเดียวข้าวแตกกอสูงสุด 120 ต้น สีข้าวขายเองได้ตันละ 1.5-1.8 หมื่นบาท ไม่ง้อประกัน-จำนำข้าว
วันนี้ (10 ก.พ.) นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำเหลือเพียงตันละ 6-7 พันบาท หลังรัฐบาลยกเลิกโครงการจำนำ-ประกันราคาข้าว ทางจังหวัดฯ ได้ร่วมกับนายธนวิทย์ จารุสาธิต พม.จังหวัดฯ, นายไชยา สมถวิล นายอำเภอวชิรบารมี, นายบุญเวทย์ ศรีพวงใจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิจิตร รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมกันสร้างโรงเรียนชาวนาขึ้นที่วัดนิคม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร สอนเทคนิคการทำนาข้าวอินทรีย์ รวมถึงการลดต้นทุนแต่ได้ผลผลิตดี
โดยมีการเปิดสอนชาวนาไปแล้วถึง 5 รุ่น มีชาวนาหัวก้าวหน้ามาเรียนและจบหลักสูตรไปแล้วกว่า 300 คน และเมื่อลงมือทำจริงปรากฏว่าได้ผลเกินคาด นั่นคือลงทุนในการทำนาแค่ไร่ละพันกว่าบาท แต่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งถือว่าเป็นการทำนาต้นทุนต่ำกว่าชาวนาของเวียดนามที่กำลังเป็นคู่แข่งทางการค้าข้าวของไทย อีกทั้งข้าวที่ปลูกก็เป็นข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวขาวตาเคลือบ ข้าวเหลืองอ่อนนาปรัง
“ส่วนใหญ่ชาวนากลุ่มนี้จะปลูก และแปรรูปเป็นข้าวสารขายเอง ทำให้ขายได้สูงถึงตันละ 15,000-18,000 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ได้ในยุคที่ไม่มีโครงการรับจำนำ-ประกันราคาข้าว”
ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมคณะได้ตระเวนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการสร้างชาวนารุ่นใหม่ไม่ใช้สารเคมี ปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ย ทำฮอร์โมน ทำสารไล่แมลงใช้เอง พบว่าเริ่มมีชาวนาจากพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงเรียนชาวนาแห่งนี้มาเรียนกันมากขึ้น โดยในการเปิดสอนรุ่นที่ 5 ปรากฏว่ามีชาวนาจาก ต.เขาเจ็ดลูก ต.เขาทราย พื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำอัครา รีซอร์สเซส ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ มาสมัครเรียนถึง 40 กว่าคน จากจำนวนผู้เข้าอบรมรุ่นละ 60 คน
ซึ่งในการอบรมชาวนาอินทรีย์ของโรงเรียนชาวนาแห่งนี้จะมีทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ คือ ฐานเรียนรู้ที่ 1 เป็นนาของนายธนวิน แก้วภู่ ทำนา 10 ไร่ ที่มีจุดเด่นคือ ปักดำด้วยกล้าข้าวต้นเดียวแต่แตกกอใหญ่ 20-50 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 5 กก. ซึ่งในอดีตเคยใช้มากถึง 30-40 กิโลกรัม แต่เข้าหลักสูตรเรียนรู้ก็ได้นำเทคนิคมาปรับใช้ รวมถึงลดการใช้น้ำด้วยการปลูกแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ที่ถือเป็นหนึ่งในวิธีลดต้นทุนการผลิตด้วย
ฐานเรียนรู้ที่ 2 เป็นแปลงนาของนางทิพย์วิมล วงศ์โปทา หมู่ 16 บ้านบ่อแร่ ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ที่ทำนา 5 ไร่ มีจุดเด่นคือ ทำน้ำหมักชีวภาพที่มีสารตั้งต้น คือ จาวปลวกผสมกับข้าวสุก ผสมน้ำสะอาดแล้วนำเอาไปหมักกับบอระเพ็ด และเปลือกไม้สะเดา เป็นสารไล่แมลง รวมถึงใช้พืชสมุนไพรอื่นๆ อีกหลายตัวใช้ย่อยสลายตอซังข้าวให้เป็นปุ๋ย
รวมถึงทำให้ดินนุ่มร่วนซุย สังเกตได้จากมี “กองอะเลย” (ภาษาส่วย) หรือขยองเดือน ก็คือขี้ของไส้เดือนในแปลงนา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่านาข้าวแปลงนี้มีดินเหมาะแก่การปลูกข้าว
ฐานเรียนรู้ที่ 3 คือ แปลงนาของนายเสถียร บุราคร ทำนา 10 ไร่ จุดเด่นคือ การทำนาแบบหว่านน้ำตมจมเลน ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวแค่ 15 กก.ต่อไร่ จากอดีตที่เคยใช้ 40-50 กก.ต่อไร่ ลดต้นทุนไปได้หลายร้อยบาท และมีกรรมวิธีในการควบคุมวัชพืชด้วยการปล่อยน้ำเข้านาสูงถึง 20 เซนติเมตร
หลังหว่านข้าวได้ 2-3 วัน จากนั้นเมล็ดข้าวก็จะโตขึ้นหนีน้ำเมื่ออายุข้าวได้ 7-10 วัน ก็จะใช้พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์คุมวัชพืชใส่ลงไปในแปลงนาโดยไม่ฉีดยา เมื่อข้าวอายุได้ 25 วันก็จะปล่อยให้น้ำแห้ง เป็นการทำแบบวิธีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว สิ่งที่ได้คือ ลดการใช้น้ำ ลดการใช้สารเคมี และไม่มีวัชพืชหรือข้าวดีดในแปลงนา
ฐานเรียนรู้ที่ 4 คือ แปลงนาของ นายสมจิตร สุขสำราญ ส.อบต. หมู่ 16 ต.บ้านนา ซึ่งทำนา 10 ไร่ ปลูกข้าวหอมปทุมเทพที่ปลูกในช่วงอากาศหนาว และเจอกับโรคแมลงบั่ว โดยใช้สารสกัดชีวภาพที่ทำขึ้นเอง และสามารถชนะโรคแมลงบั่วได้เป็นคนแรกของตำบลบ้านนา อีกทั้งปักดำด้วยข้าวเพียงต้นเดียว แต่ข้าวแตกกอถึง 120 ต้น โดยใน 1 ต้นจะได้ข้าวนับพันเมล็ด