xs
xsm
sm
md
lg

แล้งจัด ชาวนางดปลูกนาปรังหันปลูกพืชสวนครัวใช้น้ำน้อยทำรายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาสารคาม - สั่งเกษตรกรพื้นที่นอกเขตชลประทานงดทำนาปรัง ส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยปลอดสารพิษสู้ภัยแล้ง เผยบางรายสร้างรายได้วันละ 500-1,000 บาท

เนื่องจากในช่วงนี้เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา และทางจังหวัดมหาสารคาม ได้ประกาศให้เกษตรกรงดทำนาปรังในพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน

อย่างเช่นกรณีเกษตรกรบ้านเหล่าน้อย หมู่ 10 ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม ก็ประสบกับปัญหาภัยแล้งเช่นกันและไม่สามารถทำนาได้ เกษตรกรจึงได้รวมกลุ่มกันปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ผักบุ้ง พริก แตงกวา ผักสลัด ซึ่งใช้เวลาน้อยและได้ผลผลิตดีสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอย่างงดงาม

นายประยูร อนุอัน เกษตรกรบ้านเหล่าน้อย หมู่ 10 ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ตนมีที่นา 1 ไร่ ปกติทำนาปีเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จก็จะเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวนาปรังต่อ แต่ในปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทางชลประทานจึงประกาศให้งดปลูกข้าวนาปรัง ตนจึงได้หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เช่น ปลูกประเภทพืชผักสวนครัว ผักชี ต้นหอม ใบโหระพา ผักบุ้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นผักปลอดสารพิษ เป็นพืชอายุสั้น

โดยขั้นตอนการทำต้องใส่ใจดูแล มีการพรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอก มีการรดน้ำในตอนเช้า ต้องหมั่นดูแลเก็บวัชพืชออก ดูแลเรื่องศัตรูพืช เช่น ตัวหนอนกินใบ ถ้ามีการระบาดเยอะก็จะไถและปลูกใหม่ ซึ่งพืชเหล่านี้ใช้น้ำน้อย โดยใช้น้ำจากบ่อบาดาลน้ำตื้นมีความลึกไม่เกิน 30-50 เมตร มีน้ำใช้ตลอดปี ถ้าขุดลึกไปกว่านี้จะเจอน้ำเค็ม

สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชใช้น้ำน้อยแบบนี้ใช้เวลา 20-30 วันก็เก็บผลผลิตขายได้ โดยมีทั้งมารับซื้อถึงสวน ทำให้ตนมีรายได้เฉลี่ยวันละ 500-1,000 บาท เป็นการสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้อีกทาง

ด้านนายวสัน อุปแสน เกษตรตำบลเขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า เนื่องจากภัยแล้งในปีนี้มาเร็วกว่าทุกปี ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร จึงได้มีการประกาศและรณรงค์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน โดยเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ออกให้คำแนะนำ ให้ความรู้แก่เกษตรกร เช่นในเรื่องการให้ปุ๋ย การดูแล และการจัดการกับระบบน้ำ

กำลังโหลดความคิดเห็น