xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านบุรีรัมย์ปลูกผักปลอดสารพิษขายหน้าแล้ง รายได้งามวันละ 1,000 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านโคกเพชร อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านร่วม 100 หลังคาเรือน พลิกวิกฤตหลังรัฐให้งดทำนาปรัง หันปลูกพืชผักใช้น้ำน้อยและปลอดสารพิษขาย ทำรายได้งานวันละ 800 -1,000 บาท วันนี้ ( 25 ม.ค.
บุรีรัมย์ - ชาวบ้านโคกเพชร บุรีรัมย์เกือบทั้งหมู่บ้านร่วม 100 หลังคาเรือนพลิกวิกฤต หลังภาครัฐประกาศให้งดทำนาปรังหันปลูกพืชผักสวนครัวใช้น้ำน้อยและปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ที่หาได้จากท้องถิ่น นำผลผลิตวางขายตามตลาดช่วงหน้าแล้ง ทำรายได้งามวันละ 800-1,000 บาท

วันนี้ (25 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านโคกเพชร ต.หนองตาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านร่วม 100 หลังคาเรือนพลิกวิกฤตช่วงที่ภาครัฐประกาศงดทำนาปรังเนื่องจากปีนี้มีฝนตกน้อยเกรงจะเกิดปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ได้หันมาปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักชี ต้นหอม มะเขือ ฟักทอง และพืชผักอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย และปลอดสารพิษ ตามทุ่งนาและพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำในหมู่บ้าน โดยใช้มูลสัตว์ที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น มูลไก่ สุกร หรือมูลวัวควายใส่เป็นปุ๋ยแทนสารเคมี นำไปวางขายตามตลาดนัด และตลาดถนนคนเดิน

โดยแต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการปลูกผักขายเฉลี่ยวันละ 800-1,000 บาท ซึ่งสามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่น ส่วนน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการปลูกผักก็สูบขึ้นมาจากอ่างเก็บน้ำบ้านโคกเพชร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปาหล่อเลี้ยง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านโคกเพชร บ้านนากลาง และบ้านสว่างงิ้วงาม ในตำบลหนองตาด รวมกว่า 500 หลังคาเรือน แต่หากใช้ในการทำนาปรังจะไม่เพียงพอผลิตประปา ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชผักสวนครัวแทน

นางสมพร แสนกล้า ชาวบ้านโคกเพชร บอกว่า ครอบครัวมีที่นาอยู่ทั้งหมด 9 ไร่ หลังเสร็จจากการทำนาได้ปรับพื้นที่นาหันมาปลูกผักสวนครัวประมาณ 5 ไร่ เนื่องจากเกรงว่าหากทำนาปรังน้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านโคกเพชรที่ใช้ผลิตประปาร่วมกัน 3 หมู่บ้านจะไม่เพียงพอผลิตประปา โดยแต่ละวันจะเก็บผักที่ปลูกไว้ให้ลูกหลานไปวางขายตามตลาด โดยผักที่ปลูกเป็นผักปลอดสารพิษเพราะใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดบางวันไม่พอขาย

ด้าน นายณรงค์ พรมประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านโคกเพชร บอกว่า ประชากรในหมู่บ้านมีทั้งหมด 196 ครัวเรือน ในจำนวนนี้ปลูกผักสวนครัวเกือบ 100 ครัวเรือน ซึ่งนอกจากเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนแล้วยังนำไปขายตามตลาดมีรายได้เลี้ยงครอบครัวในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกพื้นที่ ส่วนเรื่องตลาดไม่มีปัญหาเพราะผักที่ชาวบ้านปลูกเป็นผักปลอดสารพิษ ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง





กำลังโหลดความคิดเห็น