กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังไม่ละความพยายาม ร้อง ผอ.เขื่อนลำปาวขอพัฒนาแหล่งน้ำกุดดุมเกวียน หลังเกิดปัญหาถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดี ยันต้องถอนแจ้งความเพื่อความสมานฉันท์ ก่อนเดินหน้าพบนายกฯ ตู่
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการเขื่อนลำปาว กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาเชือก จนกลายเป็นเรื่องลุกลามเพราะ ผอ.เขื่อนลำปาวขัดขวางการพัฒนาแหล่งน้ำของ อบต.นาเชือก ขุดลอกกุดดุมเกวียน หนองน้ำสาธารณประโยชน์เป็นแก้มลิง ความขัดแย้งยังถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีต่อ อบต.นาเชือก จนทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านทั้งตำบลเสียขวัญ
ล่าสุดวันนี้ (5 ก.พ. 58) นายประยุทธ ภูพันเชือก กำนันตำบลนาเชือก นายสุพจน์ ธรรมรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำตำบล นายบุญเพ็ง ภูเงินขำ ผู้ใหญ่บ้านนาเชือก หมู่ 2 พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านกว่า 30 คนได้พาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นากุง ดูสภาพพื้นที่โดยรอบกุดดุมเกวียน และพื้นที่รอบบริเวณที่อยู่ในความดูแลของเขื่อนลำปาว ซึ่งทางธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์มอบให้ดูแล พบปัญหาการบุกรุกพื้นที่บริเวณดังกล่าวกว่า 100 ไร่ มีการลักลอบปลูกข้าว โดยแหล่งข่าวระบุว่าเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ภายในเขื่อนลำปาว
นายประยุทธ ภูพันเชือก กำนันตำบลนาเชือก กล่าวว่า ต้องการให้ ผอ.เขื่อนลำปาว ถอนแจ้งความดำเนินคดีและอนุญาตให้เข้าทำงานได้ ทุกหน่วยงานสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา จึงต้องการให้ ผอ.เขื่อนลำปาวเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาที่แจ้งความต่อ อบต.ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียขวัญมาก หากไม่มีกฎอัยการศึกจะต้องเดินขบวนขับไล่กันแล้ว
นายสุพจน์ ธรรมรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำตำบล กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้เหมาะที่สุดในการก่อสร้างแก้มลิง ชาวบ้านเสียใจและเจ็บช้ำมากที่ไม่อนุญาต ซึ่งชาวบ้านกำลังคิดกันว่าคงต้องเข้าร้องเรียนให้ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าข้าราชการผู้ใหญ่กำลังทำลายกลไกความสมานฉันท์ ข้าราชการไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชน จึงต้องการให้ทหารลงพื้นที่เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์
ด้านนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รักษาการหัวหน้าสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังเร่งแก้ไขปัญหาตามคำสั่งนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามกรอบการพัฒนาที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์หลักของนายกรัฐมนตรี ด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาที่ควบคู่ไปกับแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักนำทาง และปัญหานี้ตรงกับนโยบายที่ 9 การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนมาพิจารณา เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาที่ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด