xs
xsm
sm
md
lg

ทีมสัตวแพทย์เตรียมยิงยาซึมช้างป่าที่บาดเจ็บ หลังขโมยอาหารในจันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จันทบุรี - สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำทีมลงพื้นที่หมู่ 7 ตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว เพื่อรอปฏิบัติการยิงยาซึมใส่ช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณปลายงวงในช่วงค่ำ เพื่อนำตัวเข้ารักษา ขณะที่โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว ยังคงกระจายอยู่ในตำบลพวา และสามพี่น้อง

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (30 ม.ค.) สัตวแพทย์หญิงกิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด สัตวแพทย์ฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิงสุภกานต์ แก้วโชติ ได้นำทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสัตวแพทย์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา ลงพื้นที่หมู่ที่ 7ตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เพื่อเข้าดำเนินการยิงยาซึมรักษาช้างป่าเพศผู้ ที่ได้รับบาดเจ็บที่ปลายงวง

หลังเข้าไปขโมยหาอาหารในหมู่บ้านจนถูกสังกะสีบาดปลายงวงหวิดขาด และล่าสุด พบว่าบริเวณปลายงวงมีอาการบวมมาก จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

โดยทีมสัตวแพทย์ได้ลงประจำพื้นที่เพื่อเร่งติดตามช้างป่าเพศผู้ตัวนี้ หลังเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้เฝ้าติดตามจนรู้พิกัด และคาดว่าจะสามารถยิงยาซึมในการรักษาช้างป่าเพศผู้ได้ในเร็ววันนี้

แต่ทั้งนี้ ต้องแยกช้างป่าเพศผู้ตัวที่ได้รับบาดเจ็บออกจากโขลงช้างป่ากว่า 30 ตัว ที่มีเจ้างาบิดออกจากโขลงให้ได้ ทำให้ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการไล่ต้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากเจ้างาบิดกำลังมีอาการตกมัน และห่วงโขลงเป็นอย่างมาก ทำให้การทำงานของสัตวแพทย์เป็นไปได้ยากมากขึ้น

เบื้องต้น จึงต้องรอเวลาให้ช้างป่าเพศผู้เดินลงจากเขาป้อมมาหาอาหารกิน หลังจากนั้นสัตวแพทย์จึงจะใช้ปืนยิงยาซึมเข้าใส่ และนำตัวมารักษาแผลที่ปลายงวงต่อไป

ขณะที่โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว ยังคงกระจายโขลงออกหากินใน 5 หมู่บ้าน ของ 2 ตำบล คือ ตำบลพวา และตำบลสามพี่น้อง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านที่ถูกบุกกัดกินพืชผลทางการเกษตรจนเสียหายเป็นวงกว้าง

สัตวแพทย์หญิงสุภกานต์ แก้วโชติ กล่าวว่า ขณะนี้ช้างป่าที่บาดเจ็บได้เข้าไปอยู่รวมในโขลงใหญ่ จึงทำเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติการในคืนนี้ด้วยการซุ่มยิงยาซึม และหากสามารถเข้าถึงตัวช้างป่าที่บาดเจ็บได้ ก็อาจจะต้องตัดชิ้นเนื้อที่ตายบริเวณปลายออกก่อนจะตกแต่งบาดแผลเพื่อให้ช้างป่าสามารถหยิบจับอาหารเข้าปากได้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น