จันทบุรี - ผู้ว่าฯ จันทบุรี ประกาศให้ 2 หมู่บ้าน ตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่าเพิ่ม หลังโขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว บุกเข้ากัดกินเหยียบย่ำพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหาย ขณะที่ช้างป่าบาดเจ็บเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนยังแกะรอยออกตามหาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะให้สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รักษา
ผู้สื่อข่าวได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับช้างป่าที่บาดเจ็บที่ปลายงวง ที่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี แจ้งว่า ช้างป่าตัวนี้ได้ใช้งวงเข้าไปขโมยอาหารในหมู่บ้านจนถูกสังกะสีบาด เป็นแผลจนเกือบขาด
ล่าสุด อาการบาดแผลที่ปลายงวงมีอาการบวมมาก และเป็นแผลอักเสบจนทำให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ชุด ชรบ.และชาวบ้าน ต้องจัดกำลังแกะรอย และออกตามหาช้างป่าตัวนี้อย่างใกล้ชิด และเพื่อให้รู้พิกัดของช้างป่าที่บาดเจ็บตัวนี้อย่างชัดเจน ก่อนที่จะประสานให้สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้ามาดำเนินการยิงยาซึมเพื่อรักษาบาดแผลที่ปลายงวงอย่างเร่งด่วน
ในเบื้องต้น ในช่วงเช้าและบ่ายวันนี้เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังออกติดตามหาช้างป่าที่บาดเจ็บตัวนี้อย่างเร่งด่วน คาดว่ายังอยู่ในพื้นที่ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
ขณะที่จังหวัดจันทบุรี นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้มีการประกาศให้ 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7 ตำบลสามาพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ได้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่าเพิ่ม หลังโขลงช้างป่า 70 ตัว ได้กระจายโขลงเข้าไปบุกกัดกินเหยียบย่ำพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกไว้ได้รับเสียหายกว่า 100 ไร่
ในเบื้องต้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอำเภอ อำเภอแก่งหางแมว ได้เข้าไปสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าอย่างเร่งด่วนแล้ว
ส่วนสถานการณ์โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว ยังคงกระจายโขลงออกหากินในพื้นที่ 2 ตำบลอยู่ และช้างป่าบางตัวพยายามที่จะข้ามคูดักช้างเข้ามาในหมู่บ้านทำให้เจ้าหน้าที่ ชุด ชรบ.และชาวบ้านต้องตรึงกำลัง และจัดเวรยามเฝ้าดูแลความปลอดภัย และพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สาเหตุที่โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว ไม่ยอมกลับขึ้นเขาเป็นเพราะสภาพอากาศบนเขาเกิดความแห้งแล้งทำให้แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำตามธรรมชาติหมดลง จึงทำให้โขลงช้างป่าต้องพากันอพยพเข้ามาหากินในพื้นที่ของชาวบ้านแทน ประกอบกับพื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของอาหาร ผลไม้ ทำให้โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว ติดใจในรสชาติจึงไม่ยอมที่จะกลับขึ้นเขาไปแต่อย่างใด ซึ่งหลายหน่วยงานพยายามที่แก้ไขปัญหาระยะยาวในการจัดทำพื้นที่แหล่งอาหาร แหล่งน้ำเพิ่ม ในพื้นที่เขตรอยต่อ 5 จังหวัดให้มากขึ้น
รวมทั้งวางมาตรการไม่ให้โขลงช้างป่าออกมานอกพื้นที่ หากออกมาก็จะต้องหามาตรการในการผลักดันให้กลับเข้าพื้นที่เดิมเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน และเป็นอันตรายต่อชาวบ้านต่อไปในอนาคตอีกด้วย