อุดรธานี - เครือข่ายลดอุบัติเหตุผนึกกำลังรัฐ ท้องถิ่น และชุมชน หาทางออกลดการเจ็บและตายจากอุบัติเหตุรถไฟหลังเกิดอุบัติเหตุบ่อย ขณะที่การรถไฟฯ เผยจะเร่งรัดติดตั้งสัญญาณไฟแจ้งเตือน ไฟกะพริบก่อนถึงจุดตัด โดยเน้นทางลัดผ่าน 584 แห่งทั่วประเทศก่อน
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่โรงแรมปั้นหยา จ.อุดรธานี คณะกรรมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จัดการประชุมบูรณาการร่วมใจสร้างถนนผ่านจุดตัดทางรถไฟให้สัญจรปลอดภัยจังหวัดอุดรธานี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชนร่วมประชุมหนาตา
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีมีทางรถไฟผ่านเป็นระยะทาง 189 กิโลเมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 58 จุด แต่มีที่กั้นเพียง 15 จุด จึงทำให้ประชาชนที่ใช้ถนนผ่านจุดตัดทางรถไฟไม่มีความปลอดภัย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจังหวัดอุดรธานีเกิดอุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟติดต่อกันถึง 3 ครั้ง
โดยครั้งแรกวันที่ 28 ธันวาคม 2557 เกิดที่จุดลัดผ่านชาวบ้านสร้างขึ้น ที่บ้านน้ำคำ ม.2 ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 4 ราย
ครั้งที่ 2 วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เกิดที่จุดบ้านค้อน้อย ต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด เสียชีวิต 2 ราย และครั้งที่ 3 วันที่ 2 มกราคม 2558 เกิดที่จุดกิโลเมตร 561/22 ระหว่างสถานีหนองขอนกว้าง หนองตะไก้ อ.เมือง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
โดยการขับผ่านจุดตัดทางรถไฟ สิ่งสำคัญคือผู้ขับขี่ต้องสังเกตป้ายเตือน ลดความเร็วและหยุดรถห่างในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร ลดกระจกข้างลงเพื่อฟังเสียงสัญญาณเตือนรถไฟ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงจะขับรถผ่านไปได้ ซึ่งที่ผ่านมา สคอ.ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดทำคู่มือการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนบริเวณจุดตัดทางรถไฟขึ้น
เพื่อให้เป็นคู่มือขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟให้แก่ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ได้ เนื่องจากการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ถือเป็นบทบาทและหน้าที่ของท้องถิ่นโดยตรง ที่จะให้ประชาชนมีการสัญจรที่ปลอดภัย
ด้านนายพรสุทธิ ทองสาด หัวหน้าสำนักงานประจำการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทางตัดเส้นทางรถไฟทั่วประเทศมีอยู่ 2,517 แห่ง แบ่งเป็นทางตัดที่มีคานกั้นถนน และคานกั้นอัตโนมัติ 887 แห่ง ทางตัดผ่านของเอกชน 5 แห่ง ทางตัดที่มีสะพานข้าม 146 แห่ง ทางตัดที่มีอุโมงค์ลอด 118 แห่ง และเป็นทางลัดผ่าน 584 จุด โดยเป็นจุดตัดที่ไม่มีสัญญาณและอุปกรณ์ความปลอดภัย 775 แห่ง ถือว่าเป็นจุดตัดที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
และจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่มอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ทางการรถไฟฯ ได้เร่งรัดติดตั้งสัญญาณไฟแจ้งเตือน ไฟกะพริบก่อนถึงจุดตัด เน้นจุดตัดเป็นทางลัดผ่าน 584 แห่งก่อน โดยติดตั้งป้ายเตือนจุดตัดว่าข้างหน้าเป็นจุดตัดทางรถไฟ ทำคลื่นระนาดบนผิวถนนเพื่อชะลอความเร็วของรถ และติดตั้งสัญญาณไฟและเสียงแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่รถเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
นายพรสุทธิกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขจุดตัดทางรถไฟของจังหวัดอุดรธานี ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะติดตั้งป้ายไฟกะพริบ และเครื่องกั้นในจุดลัดผ่านที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเร่งด่วนก่อนเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ และจะขยายให้ครบทั้ง 58 จุด โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือกับท้องถิ่นโดยการสนับสนุนค่าควบคุมดูแลในการติดตั้งบริเวณจุดตัดรถไฟ เพื่อร่วมช่วยให้การสัญจรของประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
นายณพร ภคสันต์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ส่วนติดตามและประเมินผล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศสำรวจพื้นที่ จำนวนจุดตัดผ่าน ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการอนุญาตและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนระดับจังหวัดแล้ว เพื่อเร่งดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟในพื้นที่ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวด้วย เพื่อให้การขับเคลื่อนการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้ทันที เช่น การปรับทัศนวิสัย ตัดแต่งกิ่งไม้ ติดตั้งไฟส่องสว่าง ป้ายเตือน ลูกระนาดชะลอความเร็ว เป็นต้น รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ ตระหนัก และระมัดระวังในการสัญจรบริเวณจุดตัดทางรถไฟ