xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรหลายจังหวัดแห่ขายยางตลาดกลางบุรีรัมย์-ซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรจากหลายจังหวัด แห่นำยางพารามาขายที่ตลาดกลาง จ.บุรีรัมย์ ตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพยางราคาของรัฐบาล รับซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาด วันนี้ ( 12 ม.ค.)
บุรีรัมย์ - เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์กองทุนสวนยาง จากหลายจังหวัดทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันออก แห่นำยางพารามาขายที่ตลาดกลางบุรีรัมย์ ตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพยางราคาของรัฐบาล คึกคักวันละ 100-300 ตัน เนื่องจากรับซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาด

วันนี้ (12 ม.ค.) เกษตรกรผู้ปลูกยางพารารายย่อย และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงสหกรณ์กองทุนสวนยาง จากหลายจังหวัดทั้งในเขตพื้นที่ภาคอีสาน เช่น จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ, ภาคเหนือ จาก จ.พะเยา และภาคตะวันออก จ.ตราด และระยอง แห่นำรถบรรทุกยางพาราแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันมาขายที่ตลาดกลางยางพารา จ.บุรีรัมย์ ตาม “โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 700 แห่ง 500,000 ราย” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 มาตรการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ

โดยแต่ละวันได้มีเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรแห่นำยางพาราแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันมาขายเฉลี่ยวันละ 100-300 ตัน เนื่องจากได้ราคาสูงกว่าท้องถิ่นหรือท้องตลาดทั่วไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5-6 บาท โดยยางแผ่นดิบรมควันตลาดกลางจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 61.70 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพดีกิโลกรัมละ 57.50 บาท ขณะที่ท้องตลาดทั่วไปราคายางแผ่นดิบจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-51.70 บาท

ทั้งนี้ จากราคายางที่ตกต่ำจึงทำให้เกษตรกรทั้งรายย่อย และที่รวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรหลายพื้นที่ต้องชะลอนำยางออกมาขายเพื่อรอให้ราคาสูงขึ้น กระทั่งรัฐบาลได้มีมาตรการดังกล่าวออกมาเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง จึงได้แห่นำยางมาขายที่ตลาดกลางดังกล่าวอย่างคึกคัก ประกอบกับในภาคอีสานมีตลาดกลางเพียง 2 แห่ง คือ จ.หนองคาย และ จ.บุรีรัมย์ ที่เหลือส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จ.สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

นายรณชัย ดาวดวง ผู้อำนวยการตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางเมื่อเดือน ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ได้มีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรนำยางพารามาขายที่ตลาดกลางแล้วกว่า 2,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าเงินหมุนเวียนในการรับซื้อยางกว่า 149 ล้านบาท จนทำให้ขณะนี้สถานที่จัดเก็บไม่เพียงพอต้องประสานทางองค์การสวนยางมาขนระบายออกทุกวัน

หากเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมามีเกษตรกรนำยางมาขายทั้งปีเพียง 4,000 ตันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีเกษตรกรนำยางพารามาขายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการในเดือนเมษายน 2559


กำลังโหลดความคิดเห็น