xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางอีสานขอเพิ่มจุดรับซื้อยางโครงการมูลภัณฑ์กันชน หลังแห่ขายตลาดกลางบุรีรัมย์รอคิวยาว ซ้ำต้องรับภาระค่ารถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - ชาวสวนยางหลายจังหวัดภาคอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มจุดรับซื้อยางโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง หลังต้องนำรถบรรทุกยางมานอนรอยาวเหยียด ซ้ำรับภาระค่าขนข้ามจังหวัดเพราะทั้งภาคอีสานมีเพียง 2 จุด

วันนี้ (14 ม.ค.) ชาวสวนยางพาราหลายจังหวัดในภาคอีสานที่นำยางแผ่นดิบและยางแผ่นดิบรมควันมาขายที่ตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มจุดรับซื้อยางพารา ในโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 700 แห่ง 500,000 ราย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 มาตรการของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ

เพราะรับซื้อในราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปเฉลี่ยตั้งแต่กิโลกรัมละ 6-9 บาท โดยชาวสวนยางอยากให้มีการกระจายจุดรับซื้อให้ครอบคลุมทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง เนื่องจากในภาคอีสานมีตลาดกลางยางพาราที่เปิดรับซื้อในโครงการเพียง 2 แห่ง คือ ตลาดกลาง จ.บุรีรัมย์ และตลาดกลาง จ.หนองคาย ทำให้ขณะนี้มีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร พ่อค้าที่รับซื้อยางจากเกษตรกร และสหกรณ์กองทุนสวนยาง จากหลายจังหวัดทั้งในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันออก นำรถบรรทุกยางมาเข้าคิวรอขายเป็นจำนวนมาก ทำให้บางรายต้องนำรถมาจอดนอนรอตั้งแต่เช้ามืด

ซ้ำยังต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันรถในการขนยางมาขายข้ามจังหวัดเป็นระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์รับซื้อยางแผ่นดิบรมควัน กิโลกรัมละ 62.20 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 57.75 บาท ขณะที่ท้องตลาดทั่วไปราคายางแผ่นดิบจะอยู่ที่ 47-50 บาท ทำให้มีเกษตรกรนำยางมารอขายในโครงการกันอย่างคึกคัก

นางจันทร์เทศ คำแสนหล้า อายุ 52 ปี ชาวสวนยางที่เดินทางมาจาก จ.ศรีสะเกษ บอกว่า สาเหตุที่ตัดสินใจนำยางมาขายที่ตลาดกลางบุรีรัมย์เนื่องจากรับซื้อในราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยขณะนี้ที่ จ.ศรีสะเกษกิโลกรัมละ 47-48 บาท แต่ตลาดกลางบุรีรัมย์ได้ 57.75 บาท ต่างกันเกือบ 10 บาท แต่ก็อยากให้รัฐบาลได้พิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อ เพราะต้องรอคิวนาน และเสียค่าใช้จ่ายในการขนมาไกล

เช่นเดียวกับนายสามารถ ซึมกระโทก ชาวสวนยาง จ.นครราชสีมา บอกตรงกันว่าอยากให้รัฐบาลขยายจุดรับซื้อในโครงการเพิ่มอีกจังหวัดละ 1 แห่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวสวนยาง เพราะนอกจากจะมารอคิวนานแล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายขนยางข้ามจังหวัดกว่า 200 กิโลเมตร เพราะหากนำไปขายให้ผู้ประกอบการหรือสหกรณ์ในพื้นที่จะได้ราคาต่ำ ซ้ำยังถูกหักความชื้นยาง ทำให้เหลือเพียงกิโลกรัมละไม่กี่บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น