สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยตลอดปี 2556 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 โดยมียอดนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 26.69 ล้านคน สร้างได้เข้าสู่ประเทศกว่า 1.16 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 2557 นี้ คาดหวังกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 29.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.35 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามตลอดทั้งปี 57 จนถึงช่วงสิ้นปีพบว่าการท่องเที่ยวมีปัญหาพอสมควร
ด้วยจากปัญหาและสถานการณ์ในหลายด้านในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งความไม่ชัดเจนในสถานการณ์การเมืองที่จะนำไปสู่การยุติปัญหา การปรับลดการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบ โตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP’s Growth และเศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะถดถอย รวมไปถึงสถาน การณ์การเมืองของประเทศรัสเซียและกลุ่ม CIS อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่คาด การณ์ไว้ไม่ตรงตามเป้าหมาย แต่ก็ถือว่าการท่องเที่ยวถือเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดผู้คนและเงินตราเข้าสู่ประเทศปีละเป็นจำนวนมหาศาล
จากปัจจัยดังกล่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่แปรเปลี่ยนสถานะมาเป็นรัฐบาลในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อการคงไว้ รวมทั้งปรับปรุง และพัฒนาความเป็นระเบียบความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญในประเทศ เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างฐานรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น ผสมรวมกับการร้องเรียนจากปัญหาต่างๆตามแหล่งท่องเที่ยว
โดยเฉพาะพื้น ที่ชายหาดในแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศหลายแห่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่กลับพบว่าแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้กลับไม่มีความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบ ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีปัญหาความสกปรก หมักหมม มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพัน
จนส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวมีความเสื่อมโทรมและมีทัศนียภาพที่ไม่สวยงามเหมือนอดีต ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าไปพักผ่อนใช้ประโยชน์ชายหาดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ประกอบการเตียง ร่มผ้าใบ ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ มากเกินความจำเป็น ทำให้นัก ท่องเที่ยวเกิดความผิดหวัง ไม่ประทับใจและไม่เดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวอีก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวม
จากนโยบายในการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่หมักหมมสะสมมานาน ในที่สุด “การจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ก็เกิดขึ้น โดยมีการสนธิกำลังกันระหว่างหน่วยงานในภาคต่างๆ ทั้ง ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ เอกชน และภาคประชาชน ในการเข้าไปจัดระเบียบคืนความเป็นธรรมชาติแก่แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ โดยเริ่มต้นที่ชายหาดกะตะ ป่าตอง ในจังหวัดภูเก็ต ไล่ต่อมาที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชายหาดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี และล่าสุดที่ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี
พื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีการเข้าไปจัดระเบียบและแก้ไขปรับปรุงพัฒนาอย่างจริงจังนั้น พบว่ามีการโยกย้ายในส่วนของผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาด ร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอสังหาริมทรัพย์ต่างๆที่มาจับจองใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์หากินกันโดยมิชอบ พร้อมคืนความเป็นธรรมชาติแก่แหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ถือว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ในการ “คืนความสุขให้กับสังคม” อย่างแท้จริง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ และแหล่งท่องเที่ยวกลับมามีความสวยงาม สมบูรณ์ เป็นที่สนใจกับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากแผนตามแนวนโยบายดังกล่าวพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในเป้าหมายการจัดระเบียบนั้นประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพัฒนาในเวลาอันรวดเร็ว แม้กระทั่งชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในโผล่าสุดก็ได้รับการแก้ไขในเวลาสั้น แต่พื้นที่ชายหาดเมืองพัทยาเอง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศสูงเป็นติดอันดับต้นๆของประเทศ กลับพบว่าจนถึงปัจจุบันนโยบายมีการปรับเปลี่ยนไปโดยตลอด และยังไม่มีการแก้ไขหรือจัดระเบียบออกมาสักที
สำหรับชายหาดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ถือว่าจุดขายและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ด้วยความที่เป็นเมืองชายทะเลใกล้กับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ มีพื้นที่ใกล้กับสนามบินนานาชาติอย่าง “สุวรรณภูมิ” ที่ใช้ระยะ เวลาการเดินทางไม่ถึง 45 นาที รวมทั้งยังมีสนามบินนานาชาติอย่าง “อู่ตะเภา” ไว้คอยรองรับการเดินทางจากทุกสารทิศ ผสมกับสภาพน้ำทะเลที่ปัจจุบันมีความใสสะอาด ชายหาดขาวที่ทอดยาวร่วม 3 กม.ในพื้น ที่เมืองพัทยา และอีกกว่า 5 กิโลเมตรในพื้นที่ชายหาดจอมเทียน พร้อมพรั่งไปด้วยห้องพักกว่า 1.2 แสนห้อง จากสถานประกอบการโรงแรมขนาด 3-5 ดาวกว่า 2,000 โรง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และเอ็นเตอร์เทนเมนต์เต็มรูปแบบที่หลากหลายมากมาย จึงถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการจัดระเบียบของภาครัฐ
หลายเดือนที่ผ่านมา “คมสัน เอกชัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี มอบหมายให้ “เชาวลิตร แสงอุทัย” ปลัดจังหวัดชลบุรี ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในปัจจุบันเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ในการประสานงานร่วมกับมณฑลทหาร บกที่ 14 อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา และองค์กรภาคธุรกิจเอกชน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบความเรียบร้อยชายหาดเมืองพัทยาขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากมีคำสั่งจากส่วนกลางเพื่อให้ดำเนินการจัดระเบียบชายหาดเมืองพัทยา จอมเทียนและเกาะล้านอย่างจริงจัง
อีกทั้งยังพบปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนและนักท่องเที่ยวจากความเห็นแก่ได้และมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์โดยมิชอบจากผู้ประกอบการชายหาดบางกลุ่มจนเป็นข่าวดังสร้างความเสื่อมเสียด้านภาพลักษณ์ไปทั่วโลกบ่อยครั้ง กระทั่งเป็นที่มาของการตั้งเป้าในการจัดระเบียบด้วยการคืนพื้นที่ชายหาดเพิ่มอีก 25 % จากพื้นที่ว่างเดิมที่เมืองพัทยาเคยจัดระเบียบไว้ในปี 2551 ซึ่งครั้งนี้มีแผนในการยึดคืนพื้นที่ชายหาดจากผู้ประ กอบการนอกกรอบที่ยึดหรือจับจองพื้นที่สาธารณะซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกันไปทำกินอย่างไม่ถูกต้อง พร้อมลดขนาดพื้นที่ของผู้ประกอบการเดิมให้เหลือเพียง 1 ราย 1 ล็อคต่อพื้นที่ 1 ชายหาดเท่านั้น
นโยบายดังกล่าวถือว่าตรงใจกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยรวมเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าชายหาดพัทยา จอมเทียน หรือเกาะล้าน ถือว่าขาดความเป็นระเบียบอย่างสิ้นเชิง มีผู้ประกอบร่มเตียงชายหาดทั้งเก่าและใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมาย มีการจับจองยึดพื้นที่ทำกิน จนนักท่องเที่ยวไม่สามารถใช้ประโยชน์บนพื้นที่ชายหาดได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ประ โยชน์ร่วมกัน ที่สำคัญในหลายจุดยังมีสภาพของความสกปรก หมักหมมเป็นอย่างมาก
จากการลงพื้น ที่สำรวจข้อมูลของคณะทำงานพบว่า ทุกวันนี้พื้นที่ชายหาด ซึ่งมีการขออนุญาตจากเมืองพัทยา โดยชำระค่าธรรมเนียมรายปีเข้าสู่รัฐเพียง 500 บาทต่อผู้ประกอบการ 1 รายนั้น มีการเช่า เซ้ง ถ่ายโอน หรือขายต่อกันในอัตราสูงสนนราคาตั้งแต่ 20,000-2,000,000 บาท โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่และนักการเมืองท้อง ถิ่นบางคนเป็นแบ็กอัพอยู่ข้างหลัง จึงเป็นที่มาของการหาประโยชน์กันอย่างโจ๋งครึ่ม นี่ยังไม่นับรวมไปถึงชายหาดวงศ์อมาตย์ หรือเขาพระตำหนัก ที่เริ่มมีการจับจองพื้นที่และเข้าไปทำกินสร้างปัญหาตามมาอีกส่วนหนึ่ง ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีแผนหรือนโยบายในการจัดการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม
จากปัญหาที่หมักหมมของชายหาดเมืองพัทยาที่มีมานาน จนกระแสสังคมมองว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะจัดระเบียบให้ชายหาดกลับมามีความสวยงามอีกครั้ง เพราะน่าจะมีปัจจัยในเรื่องของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวพัน แต่จากนโยบายการจัดระเบียบของภาครัฐที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จึงถือเป็นแสงสว่างและความ หวังของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่คิดว่าถึงเวลาอันเหมาะสมแล้วที่จะมีการสังคายนาพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งนี้เสียที
อย่างไรก็ตามหลังการลงพื้นที่เพื่อจัดทำประวัติ และข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการร่มเตียงชาย หาดเมืองพัทยานั้นพบว่าชายหาดเมืองพัทยามียอดจำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้น 119 ราย จาก 280 ล็อค กินพื้นที่ทำกิน 1,456 เมตร ขณะที่ชายหาดจอมเทียนนั้นมีผู้ประกอบการ 251 รายจาก 457 ล็อค กินพื้นที่ทำกิน 2,898.5 เมตร ซึ่งพบว่าบางส่วนมีปัญหาเรื่องของการจับจองพื้นที่หลังแผนการจัดระเบียบในปี 2551 ที่เมืองพัทยาได้จัดทำทะเบียนไว้ จึงถือว่าไม่เข้าข่ายในการอนุญาตให้ทำกินต่อไป แต่ด้วยความที่ชายหาดเมืองมีสภาพแตกต่างจากพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำกินมาเป็นเวลา นาน และเป็นการประกอบการที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี จึงเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาอลุ่มอล่วยในการจัดระเบียบและการปรับลดให้มีความเหมาะสม
เพื่อลดปัญหาและผลกระ ทบต่อผู้ทำกินในวิชาชีพดังกล่าว ด้วยการผ่อนปรนนโยบายปรับลด “1 ราย 1 ล็อก 1 หาด” ของผู้ประกอบ การให้เหลือเพียงการปรับลดขนาดพื้นที่ทำกินลงเท่านั้น โดยมีข้อกำหนดคือให้ผู้ประกอบการที่มีที่ทำกินขนาดพื้นที่ 7 x 10 เมตรก็ให้ลดขนาดลง 1.5 เมตรสำหรับชายหาดพัทยาและลดลง 2 เมตรสำหรับชาย หาดจอมเทียน พร้อมต้องกันพื้นที่ว่างระหว่างล็อคให้ห่างกันในระยะ 1.5 เมตร โดยจะมีการปรับพื้นที่ทำกินให้อยู่เป็นกลุ่มเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น โดยทางรัฐจะทำการปักหมุดกำหนดแนวเขตที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการลุกล้ำในอนาคต
กรณีนี้เองจะทำให้ชายหาดเมืองพัทยาได้พื้นที่คืนแก่สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 349 เมตร หรือคิดเป็น 11.95 % เมื่อรวมกับพื้นที่ว่างเดิมจะทำให้ชายหาดเมืองพัทยามีพื้นที่ว่างรวม 1,107 เมตรหรือ 37.91 % ขณะที่ชายหาดจอมเทียนจะได้พื้นที่คืน 473.5 เมตร คิดเป็น 8.03 % เมื่อรวมกับพื้นที่เดิมจะทำให้ชายหาดจอมเทียนมีพื้นที่ว่างรวม 3,474 เมตรคิดเป็น 58.89 % นอกจากนี้จะกำหนดมาตร ฐานในการห้ามนำที่สาธารณะไปซื้อขาย เช่าช่วงกันโดยเด็ดขาด แต่สามารถถ่ายทอดเป็นมรดกให้ไปยังบุตร สามี หรือภรรยาที่มีการจดทะ เบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และหากไม่มีผู้สืบทายาทก็ให้คืนพื้น ที่แก่สาธารณะต่อไป
ขณะที่ตามนโยบายในการคืนความสุขให้กับประชาชนนั้น มีข้อกำหนดร่วมกันว่า จะระบุให้ผู้ประกอบการร่มเตียงทั้ง 2 ชายหาด ยกเลิกการประกอบการทุกชนิดบนแนวชายหาดในทุกวันพุธของสัปดาห์ พร้อมกันนี้ยังจะมอบหมายให้กรมเจ้าท่าเสนอร่างกฎหมายไปยังส่วนกลางในการขอจัดหาประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะตามแนวชายหาดเพื่อให้สามารถทำการเพิ่มอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมและให้รัฐเกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ไปอีกด้วย
ล่าสุด ผู้ประกอบการร่มเตียงพัทยา ลุกฮือร้องนายกเมืองฯ ขอให้ชะลอเวลาการจัดระเบียบพื้นที่ทำกินชายหาด โดยระบุ ว่าการจัดระเบียบในช่วงนี้ อาจส่งผลกระทบการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ นายกเมืองพัทยาจึง เร่งประสานผู้เกี่ยวข้อง กับกรณีของการชะลอระยะเวลาการจัดระเบียบร่มเตียงชายหาดพัทยานั้น จะมีการผ่อนผันให้ยกเลิกกำหนดการเดิมจากวันที่ 18 ธันวาคมไปก่อน และจะดำเนินการใหม่อีกครั้งในวันพุธที่ 7 ม.ค. 2558 โดยระหว่างนี้จะให้ผู้ประกอบการสามารถทำกินในพื้นที่เดิมไปก่อนจนกว่าจะถึงกำหนดเวลาที่ปรับเปลี่ยนใหม่
แผนการจัดระเบียบตามนโยบายของภาครัฐมานานนับเดือน จนถึงขณะนี้รูปแบบการจัดระเบียบตามแผนหลายอย่างถูกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแม้จะไม่ตรงตามเจตนารมณ์หรือความต้อง การของกลุ่มคนและองค์กรใดไปบ้าง แต่ก็ยังถือได้ว่าการจัดระเบียบนี้คงจะเกิดผลดีต่อการท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย
เรื่องนี้มันอยู่ที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องเองว่าจะจริงจัง และจริงใจในการจัดระเบียบแค่ไหน ที่แน่ๆพื้นที่ท่องเที่ยวคู่แข่งอื่นๆเค้าดำเนินการไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรมจนทำให้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่อง เที่ยวดีขึ้นตามลำดับ แม้กระทั่งชายหาดบางแสน ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันก็ยังดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วในระยะเวลาอันสั้น ฤาจะเฝ้ารอให้นักท่องเที่ยวห่างหายไปมากกว่านี้ หลังสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวของเมืองพัทยาลดฮวบลงอย่างน่าใจหายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งถือว่าเป็นช่วงไฮซีซันแท้ๆ ถึงเวลานี้คงต้องตอบสังคมให้ชัดเจนว่า “ ถึงเวลาหรือยัง ที่จะจัดระเบียบชายหาดพัทยา.......”