xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีฯ เปิด “เดบิตโอพีดี” ชิงรายได้ค่าฟียุคสินเชื่อชะลอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แบงก์กรุงศรีฯ เปิดตัวบัตรเดบิตโอพีดี ชูสิทธิประโยชน์ จ่ายทั้งค่ารักษาเจ็บป่วย-อุบัติเหตุ ค่าธรรมเนียมปีละ 3,500 บาท จนถึงสิ้นธันวาฯ นี้ เผยแผนปีหน้าจับมือพันธมิตรเหนียวแน่นรุกรายได้ค่าธรรมเนียม คาดสินเชื่อยังขยายได้ไม่เต็มที่

นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัย และธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)เปิดเผยว่า ธนาคารได้เปิดตัวบัตรเดบิตกรุงศรี OPD โดยการรับประกันภัยบริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) นับเป็นบัตรเดบิตใบแรกที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย และอุบัติเหตุสำหรับผู้ป่วยนอก และคุ้มครองชีวิตจากอุบัติเหตุ และลูกค้าที่สมัครใช้บัตรเดบิตดังกล่าว จะคิดค่าธรรมเนียมรายปี 3,500 บาท จนถึงสิ้น ธ.ค.58 จากค่าธรรมเนียมปกติ 3,999 บาท

ทั้งนี้ ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยให้สูงสุด 1,000 บาทต่อครั้ง สูงสุด 10 ครั้งต่อปี ความคุ้มครองจากอุบัติเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 5,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วไปสูงสุด 100,000 บาท และหากเสียชีวิตจากการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์สูงสุด 50,000 บาท ซึ่งลูกค้าที่สมัครใช้บริการต้องเปิดบัญชีออมทรัพย์กับสาขาของธนาคารทั่วประเทศไม่ต้องตรวจสุขภาพ

สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของบัตรเดบิตกรุงศรี OPD เป็นกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพ เช่น ธุรกิจค้าขายส่วนตัว นักออกแบบ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ รวมถึงพนักงานประจำที่มีสวัสดิการจากบริษัทอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่เพียงพอ และต้องการเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายในปี 58 จะมีลูกค้าใช้บริการ 150,000 บัตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นเป้าหมายที่มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากเราจะไม่เน้นที่ปริมาณการเปิดบัตรเป็นหลัก แต่จะเน้นตรง9jvกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ตรงความต้องการมากที่สุด

“การรุกตลาดบัตรเดบิตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเน้นที่การเปิดหน้าบัตร หรือเน้นที่ปริมาณบัตรที่เพิ่ม แต่หาความแตกต่างกันในด้านของสิทธิประโยชน์แทบไม่ได้เลย ดังนั้น เราจึงต้องค้นหาสิ่งที่ตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างแท้จริง และตรงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ว่าค่าธรรมเนียมจะสูงกว่า แต่ก็มีความคุ้มค่ากว่า”

ส่วนการขายประกันผ่านแบงก์ สิ้นปีนี้ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันไว้ที่ 13,000-15,000 ล้านบาท หรือเติบโต 15% โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.) มียอดขายแล้ว 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันชีวิต 80% และประกันภัย 20% จากที่ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ธุรกิจประกันจะเติบโต 30-40% แต่ที่เติบโตลดลงตามการขยายตัวเศรษฐกิจ และฐานของธนาคารที่มีขยายใหญ่ขึ้น

ด้านกลยุทธ์ในปีหน้านั้น จากแนวโน้มสินเชื่อที่อาจจะยังขยายตัวได้ไม่เต็มศักยภาพนั้น ธนาคารจึงมีแนวทางที่จะเน้นเพิ่มในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากธุรกรรมแบงก์แอสชัวรันส์ โดยจะเน้นในด้านความร่วมมือกับพันธมิตรให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกับลูกค้าในทุกๆ กลุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น