xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ลั่นปี 58 ลุยรถไฟรางคู่-มอเตอร์เวย์สายอีสาน โคราช ชงอีก 10 โครงการ 6,000 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เดินทางมาประชุมตรวจราชการ ที่ จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 21 ธ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รมว.คมนาคมลงพื้นที่โคราช ลั่นปี’ 58 เดินหน้าลุยเมกกะโปรเจกต์ รถไฟรางคู่-มอเตอร์เวย์ สายเชื่อมกรุงเทพฯ-ภาคอีสาน ด้านผู้ว่าฯ โคราชเสนอ 10 โครงการซ่อม และก่อสร้างถนนเร่งด่วนร่วม 6,000 ล้าน ด้าน “ประจิน” รับปากเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติงบฯ ชี้มีความสำคัญ เหตุโคราชประตูสู่อีสานการจราจรหนาแน่น

เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจราชการ และติดตามการเตรียมความพร้อมในการรองรับประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ จ.นครราชสีมา ประตูสู่ภาคอีสาน โดยมี นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทหาร ตำรวจ ผู้นำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และหัวหน้าส่วนนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และรายงานสรุปการดำเนินงาน

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเสนอโครงการสำคัญเร่งด่วนของ จ.นครราชสีมา เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 10 โครางการ ประกอบด้วย โครงการบูรณะและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงสายหลักระหว่างภาค (ทางหลวงหมายเลข 2) 1,168 ล้านบาท, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 205 อ.โนนไนนไทย-จ.นครราชสีมา 285 ล้านบาท, โครงการทางจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัย ทางหลวง 304 นครราชสีมา-ทางแยกสวนสัตว์นครราชสีมา 47 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองทางหลวงหมายเลข 290 ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา 2,740 ล้านบาท, โครงการขยาย 4 ช่องจราจร เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ สาย นม.3060 แยก ทล.304-บ้านซับพลู อ.วังน้ำเขียว 230 ล้านบาท

โครงการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยว (ปรับปรุงขยายช่องทางจักรยาน) สาย นม.3052 แยกทางหลวงหมายเลข 304-บ้านท่ามะปรางค์ อ.ปากช่อง 359 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยว สาย นม.3138 บ้านไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว 120 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยว (ปรับปรุงขยายช่องทางจักรยาน) สาย นม.1016 แยกทางหลวงหมายเลข 2-บ้านกุดคล้า อ.ปากช่อง 120 ล้านบาท, งานบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคม 750 ล้านบาท และโครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา หรือสกายบัส 117.683 ล้านบาท รวมงบประมาณ 10 โครงการ 5,937 ล้านบาท

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมว่า โครงการที่ได้รับการเสนอจาก จ.นครราชสีมา ครั้งนี้ ล้วนมีความสำคัญในการที่จะรองรับการเติบโตของเมือง และการเดินทางของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางกระทรวงจะรับไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณางบประมาณในกรณีโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากนครราชสีมา เป็นประตูสู่ภาคอีสานในช่วงเทศกาลต่างๆ จะมีการจราจรหนาแน่น

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการสร้าง และซ่อมถนน รวมถึงการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแล้ว ยังมีการปรับปรุง และการสร้างทางเลือกใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านทางรถไฟ โดยโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่นั้น เริ่มต้นที่สายภาคอีสาน เป็นทางเส้นแรก คือสาย กทม.-แก่งคอย-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรฯ-หนองคาย

ส่วนโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ หรือมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-หมวกเหล็ก-นครราชสีมา นั้น ทางรัฐบาลให้ไฟเขียวเต็มที่ คาดว่าเส้นทางนี้จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2558-ต้นปี 2559 แน่นอน ตรงนี้จะเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ เรื่องความไม่ปลอดภัยต่างๆ ซึ่งได้มีการเตรียมการที่จะวางระบบร่วมกันทั้งส่วนท้องที่ และส่วนกลาง โดยจะพัฒนาเส้นทางจราจร เส้นทางการท่องเที่ยวให้มากขึ้น และดูแลกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน โดยวางจุดในการติดต่อส่งข่าวไปยังศูนย์กลางการซ่อมบำรุง และความปลอดภัยทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องที่ ขั้นต้นได้ฝากผู้ว่าฯ ในการบูรณาการกันระหว่างทางหลวง ทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งตำรวจจัดทีมไปสำรวจพื้นที่หรือถนนที่ชำรุดในตัวเมืองกับรอบเมือง เพื่อระดมงบประมาณในการซ่อมบำรุงเป็นการเร่งด่วนเป็นกลุ่มที่ 1

จากนั้นจะดูว่ากลุ่มที่ 2 จะใช้งบจากส่วนกลาง หรืองบส่วนที่กระทรวงเหลือมาดำเนินการให้ทาง จ.นครราชสีมา ได้เท่าไหร่ และแผนงานต่อไปจะไปปรับเพิ่มในปี 2559 เพื่อให้งบซ่อมบำรุงเส้นทางใน จ.นครราชสีม าดีขึ้นอย่างเห็นชัดเจน

นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่เรื่องรถบรรทุกที่น้ำหนักเกินบางเส้นทาง และบางธุรกิจเท่านั้นที่ยังมีน้ำหนักเกินที่มาตรฐานกำหนดไว้ ขอให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ หรือพยายามที่จะควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อที่จะให้การซ่อมบำรุงอยู่ในห้วงเวลาที่เหมาะสม ฉะนั้นเรามาดูเรื่องการสร้างทาง การซ่อมทาง การสร้างความปลอดภัย การสร้างทางเลือกให้การเดินทางดีขึ้น

สำหรับรถไฟรางคู่มีความชัดเจนแล้ว โดยวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟสายหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-กทม. และแก่งคอย-มาบตาพุด จ.ระยอง เรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2558 ทั้งปีจะเป็นการสำรวจออกแบบ และจะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ในเดือน ต.ค.-ธ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างทั้ง 2 เส้นทางนี้ คือ ระยะทาง 734 กิโลเมตร (กม.) กับ 133 กม.รวมเป็น 867 กม. แล้วเสร็จภายใน 4 ปี



กำลังโหลดความคิดเห็น