ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ประชาชน นักท่องเที่ยวแห่ชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” บนยอดดอยอินทนนท์เพียบ ด้านบรรยากาศคึกคักท้องฟ้าเปิด ฝนดาวตกเริ่มตั้งแต่สองทุ่ม-นับดาวตกได้มากกว่า 200 ดวงต่อชั่วโมง เผยผู้ชมไม่หวั่นตั้งตารอแม้ลมหนาวลดเหลือ 4 องศา
ประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 200 คนได้ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์บนยอดดอยอินทนนท์อย่างชัดเจนเมื่อคืนที่ผ่านมา (14 ธ.ค.) ท่ามกลางท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆหมอกบดบัง และอากาศหนาวจัดอุณหภูมิเพียง 4 องศาเซลเซียส
กิจกรรมดังกล่าวซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “เปิดฟ้า...ตามหาดาว” สัญจร ได้นำนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่สนใจขึ้นไปยังดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ตั้งแต่บ่ายวานนี้ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้นำนักดาราศาสตร์มาให้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ และการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ พร้อมทั้งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อเตรียมสำหรับการชมฝนดาวตก ก่อนที่ในช่วงค่ำผู้ร่วมงานจะเดินทางไปยังลานจอดรถใกล้กับศูนย์เรดาห์ของกองทัพอากาศ เพื่อเตรียมชมฝนดาวตกที่คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 20.00 น.เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เมื่อคืนที่ผ่านมาเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาประมาณ 20.00 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน สามารถนับได้มากกว่า 130 ดวงต่อชั่วโมง และตั้งแต่เวลา 21.00 น.เป็นต้นมาจำนวนฝนดาวตกเริ่มถี่ขึ้น และสามารถนับดาวตกได้มากกว่า 200 ดวงต่อชั่วโมง และแม้ว่าอุณหภูมิบนยอดดอยอินทนนท์เมื่อคืนที่ผ่านมาจะลดลงเหลือเพียง 4 องศาเซลเซียสเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่จากสภาพอากาศที่ท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆหมอกบดบัง ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สามารถมองเห็นดาวตกอย่างชัดเจน และทำให้บรรยากาศการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในครั้งนี้เต็มไปด้วยความคึกคักและสนุกสนาน
สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดขึ้นจากสายธาร เศษฝุ่น ของแข็ง และน้ำแข็งจำนวนมาก ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaeton) ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า โดยจะปรากฏในช่วงระหว่างวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี สำหรับในปีนี้ปรากฏให้เห็นมากที่สุดในคืนวันที่ 14 ธ.ค. 2557