xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าพร้อมดีเดย์โครงการเสริมทรายชายหาดพัทยาเดือน เม.ย.ปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมเจ้าท่า ประกาศดีเดย์จัดทำโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยาในเดือน เม.ย.ปีหน้า หลังจัดสรรงบประมาณ 430 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ

วันนี้ (12 ธ.ค.) ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการเสริมทรายชายหาดพัทยา ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยในที่ประชุมร่วมการพิจารณาการจัดทำระบบระบายน้ำถนนสายชายหาดเมืองพัทยา เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการเสริมทรายชายหาดเมืองพัทยา ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ว่า หลังได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่า ให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชายหาดพัทยาอย่างครอบคลุมตามหลักวิชาการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงให้เห็นถึงสภาพที่เกิดขึ้นจริง ก็พบว่าจากการตรวจสอบสภาพชายหาดเดิมในปี 2495 พบว่า ชายหาดพัทยา มีเนื้อที่รวมกว่า 60 ไร่ มีขนาดความกว้างของชายหาดถึง 35.6 เมตร

แต่ในปี 2554 ชายหาดพัทยา กลับมีเนื้อที่เหลือเพียง 8.5 ไร่ มีความกว้างเหลือเพียง 3.5-5 เมตร และมีค่าเฉลี่ยของการถูกกัดเซาะอยู่ที่ 1.8 เมตรต่อปี หรือประมาณทรายที่หายไปเฉลี่ย 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังพบว่า ทรายส่วนใหญ่จะตกตะกอนอยู่ในอ่าวห่างจากฝั่งประมาณ 500-1,000 เมตร สาเหตุหลักเกิดจากเรื่องของโครงสร้างอาคาร ท่าจอดเรือ การใช้ที่ดิน และการระบายน้ำของเมืองพัทยา ที่หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปก็คาดว่าในระยะเวลาไม่เกิน 3-5 ปีนี้ ชายหาดพัทยาจะถูกน้ำกัดเซาะจนหายไปทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงพื้นที่จากบริเวณพัทยากลางถึงพัทยาใต้

ดังนั้น ในโอกาสที่กรมเจ้าท่าได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 430 ล้านบาท เพื่อเสริมทรายชายหาดถือว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อภาพรวมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และปัจจุบันได้มีการประกาศหาผู้รับจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเวลาเพียงการลงนามเพื่อว่าจ้างอย่างเป็นทางการเท่านั้น

“จากนั้นก็จะเข้ามาวางแผนพร้อมเสริมทรายอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายนปีหน้า นอกจากนั้น จะมีก่อสร้างแนวเขื่อนใต้ทะเลบริเวณพัทยาเหนือ และพัทยาใต้ เพื่อป้องกันการกัดเซาะทราย และจะจัดวางถุงบิ๊กแบ็กขนาดใหญ่ตามแนวชายหาดในระยะ 15 เมตรจากสันเขื่อน ก่อนขนถ่ายทรายด้วยเรือขนาดใหญ่มาพ่นทรายเติมตลอดแนวในระยะทางรวม 2.7 กิโลเมตร ให้มีขนาดความกว้าง 35 เมตรจากชายฝั่ง ซึ่งจะใช้ปริมาณทรายทั้งสิ้นกว่า 4 แสนลูกบาศก์เมตร โดยจะจัดทำเป็นช่วงๆ เพื่อลดผลกระทบด้านการท่องเที่ยว และปัญหาด้านระบบนิเวศ”

ศ.ดร.ธนวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า จากการนำผลการศึกษาดูงานในพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างเกาะบาหลี ในประเทศอินโดนีเซีย มาใช้จัดการกับชายหาดเมืองพัทยา ด้วยการทำจุดพักทรายขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นทรายสำรองในการเติมพื้นที่ชายหาดที่ถูกกัดเซาะ พบว่า ในช่วงปีแรกชายหาดพัทยา จะถูกน้ำทะเลกัดเซาะตามธรรมชาติจนทรายหายไปกว่า 50% หรือประมาณ 10 เมตร ก่อนจะเข้าสู่ภาวะปกติหลังผ่านพ้นเวลาไปประมาณ 3 ปี

กำลังโหลดความคิดเห็น