เลย - ชาวสวนยางพาราเมืองเลย เน้นแปรรูปผลิตยางก้อนถ้วยขายมากกว่ายางแผ่น แต่ทักษะยังไม่ถึง ทำให้ขายได้เท่าราคายางแผ่น ซ้ำมีปัญหาขี้ยางรั่ว ทำถนนลื่น เกษตรจังหวัดร่วมอบจ.อบรมการใช้น้ำกรดชนิดใหม่แก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่สวนยางบ้านป่าหวายพัฒนา อ.นาด้วง จ.เลย นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงานวันสาธิตชาวสวนยางร่วมใจใช้น้ำกรดลดความสูญเสีย ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดงานวันสาธิต “ชาวสวนยางการใช้น้ำกรดชนิดใหม่ช่วยลดความสูญเสีย”เป็นการสาธิตผลที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่คุ้มค่าและปลอดภัยกว่า
นายวัฒนะมงคล ทรัพย์มี เกษตรจังหวัดเลย กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด สร้างรายได้อันดับต้นๆให้กับจังหวัดติดต่อกันมาหลายปี ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพารา 808,410 ไร่ เกษตรกร 49,701 ราย เปิดกรีดยางได้แล้ว 386,819 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 10,954 ตัน อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ขณะเดียวกันเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนวิธีการแปรรูปผลิตยาง จากยางแผ่นมาเป็นยางก้อนถ้วย ซึ่งไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ ไม่ได้รับการรองรับมาตรฐานผลผลิต จึงต้องอิงราคายางแผ่นเป็นหลัก
นายวัฒนมงคล ระบุว่า ปัจจุบันเกษตรกรจังหวัดเลยมีการผลิตยางก้อนถ้วยร้อยละ 98 ของผู้กรีดยางทั้งหมด ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกร ทั้งปัญหามาตรฐานคุณภาพการผลิตและราคา ปัญหาคุณภาพชีวิตที่สัมผัสกับสารเคมี ปัญหาเปอร์เซ็นยางเป็นโรคเปลือกแห้งเพิ่มมากขึ้น ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาอำนาจการต่อรอง
โดยเฉพาะการเลือกใช้น้ำกรดผสมน้ำยางให้แข็งตัวไม่ถูกต้อง ซึ่งน้ำกรดบางชนิดทำให้การยืดหยุ่นของยางต่ำ และน้ำกรดที่เกษตรกรใช้ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากการรั่วไหลลงบนถนน เป็นโจทย์สำคัญของจังหวัดเลยที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะอุบัติที่เกิดขึ้นบ่อยๆดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว
ดังนัน การจัดงานวันสาธิตครั้งนี้ น่าจะเป็นทางเลือกของเกษตรกรในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ชาวสวนยางต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคการแข่งขันการค้าเสรี และรองรับการท่องเที่ยว จึงได้ร่วมกันจัดงานวันสาธิตชาวสวนยางจังหวัดเลยร่วมใจใช้น้ำกรดลดความสูญเสียขึ้น