พิษณุโลก - ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองอัคราฯ หอบสังขารเข้าร้องกรรมการสิทธิฯ วันนี้ ขอให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอาผิดบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด หลังทีมแพทย์ “หมอพรทิพย์-ม.รังสิต” เจาะเลือดชาวบ้านตรวจซ้ำพบโลหะหนักปนเปื้อนกว่าครึ่ง
วันนี้ (2 ธ.ค.) ตัวแทนชาวบ้านจาก 5 จังหวัดรอบเหมืองทองอัครา ประกอบด้วย จ.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี และ จ.สระบุรี ประมาณ 40 คนจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาเป็นตัวแทนโจทก์ หรือตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ฟ้องร้องเอาผิดต่อ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนในชีวิตและร่างกาย สภาพแวดล้อมที่เสียหายจากการประกอบกิจการอันเป็นคดีสาธารณะที่ผู้เดือดร้อนเสียหายเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อชดเชยเยียวยาให้แก่ประชาชนผู้ถูกละเมิด
หลังจากที่ผ่านมาได้พยายามเรียกร้องไปหลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ตรวจสอบและเยียวยาต่อประชาชนที่เดือดร้อนทั้งสุขภาพ มลภาวะ เสียง ฝุ่นละออง ตลอดจนการใช้ถนนในการขุดเอาแร่ทองคำก็ตาม
หนังสือร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้านครั้งนี้ยังระบุด้วยว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 หมวด 11/1 ความรับผิด มาตรา 131/1 บัญญัติว่า ผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาติอื่นใด ตาม พ.ร.บ.นี้ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน ต่อความเสียหายหรือความเดือดร้อนรำคาญใดอันเกิดขึ้นแก่บุคคลทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นในเขตที่ได้รับอนุญาต ให้สันนิษฐานได้ก่อนว่า ความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ถืออาชญาบัตร หรือใบอนุญาตนั้น
แต่ที่ผ่านมา บริษัทปฏิเสธการดูแลประชาชนมาตลอด จึงเกิดความล่าช้าเสียหาย และละเมิดต่อ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.131/1
นอกจากนี้ สารไซยาไนด์ที่เป็นสารพิษอันตรายร้ายแรง ยังอยู่ในการครอบครองดูแลของบริษัทฯ และเป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่พบในเลือดประชาชนในพื้นที่โดยรอบการทำเหมืองขณะนี้ และในพืชผักและเลือดประชาชนก็มีสารโลหะหนัก ไม่อาจดำรงชีพได้ตามปกติ รวมถึงแหล่งน้ำไม่อาจใช้อุปโภคและบริโภคได้ต่อไป ซึ่งผลการตรวจของ ม.รังสิต และสถาบันนิติเวช จะเป็นเอกสารหลักฐานในการประกอบสำนวนด้วย
พร้อมกันนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐตรวจสอบพืช ผัก ผลผลิตที่ถูกส่งออกสู่ท้องตลาด เพื่อระงับการแพร่กระจายของสารพิษที่ปนเปื้อน และจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของพืชผลการเกษตร และเป็นการยุติวงจรไม่ให้สารพิษสู่ตลาด และขอให้มีการคัดค้านอุทธรณ์ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เพื่อให้ระงับการทำเหมืองไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หนึ่งในแกนนำชาวบ้านรอบเหมืองทองอัครา เปิดเผยอีกว่า ในกลุ่มตัวแทนชาวบ้านทั้ง 40 คนที่เดินทางไปร้องเรียนครั้งนี้ มีอยู่ 13 คนจากทั้งหมด 300 คนที่เจ็บป่วยจากการได้รับสารโลหะหนักในเลือด และมีผลการตรวจเลือดเบื้องต้นว่ามีแมงกานีสและสารหนู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย. 2557 แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และทีมเจ้าหน้าที่จากคณะเทคนิคการแพทย์ ม.รังสิต ลงพื้นที่เจาะเลือดคนรอบเหมืองทองอัคราฯ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อีกครั้งหนึ่ง โดยสุ่มเจาะเลือดชาวบ้านจำนวน 600 ตัวอย่าง
เบื้องต้นพบว่ามีสารโลหะหนัก เช่น สารแมงกานีส และสารหนู อยู่ในเลือด 329 ราย ซึ่งถือเป็นโลหะหนักที่พบมากในแร่ทองคำ โดยประเมินว่าเป็นผลการระเบิดหิน ผลทำให้ฟุ้งกระจาย ทั้งยังเป็นสารโลหะหนักที่ไม่มีวันย่อยสลาย กระจายไปสู่แหล่งน้ำ, พืชผักสวนครัว ฯลฯ