ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดชลบุรี คุมเข้ม โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคม ปฏิบัติตามกฎหมายจัดการของเสีย ฝ่าฝืน หรือมีเสียงร้องเรียนจากชุมชนซ้ำซาก โทษสูงสุดสั่งปิดโรงงาน
วันนี้ (19 พ.ย.) นายจักรพงษ์ รัชนีกุล ปลัดอำเภอศรีราชา รักษาราชการแทนนายอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นประธานการประชุมโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด และระเบียบข้อบังคับ แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรืออันตรายต่อประชาชน ของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมนอกเขตการนิคมอุตสาหกรรม อ.ศรีราชา โดยอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ร่วมให้ข้อมูล และแนวทางปฏิบัติ
นายอานันท์ ฟักสังข์ หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันชลบุรีมีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเขตอุตสาหกรรม และนอกเขตอุตสาหกรรม บางรายก่อให้เกิดปัญหารบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น เสียงดัง กลิ่นเหม็น ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในที่ดินสาธารณะ หรือบ่อดิน บ่อทรายที่รกร้างห่างไกลชุมชน โดยที่ผ่านมา มีประชาชนได้ทำการร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งผ่านเว็บไซต์ สายตรงผู้ว่าราชการจังหวัด
โดยนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก โดยสั่งให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัด และทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานกับทุกอำเภอ ให้เชิญผู้ประกอบการโรงงานที่อยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมของแต่อำเภอ มารับมอบนโยบาย แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนข้อบังคับ ไม่ให้ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือเป็นอันตรายต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน
นายอานันท์ กล่าวว่า วันนี้ได้ให้คำชี้แนะ รวมทั้งข้อปฏิบัติที่ทางผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ประชาชนร้องเรียนมีอยู่ 4 ปัญหาใหญ่ คือ 1.มลพิษทางเสียง ต้องมีการควบคุมเสียงให้ไม่เกินมาตรฐานค่าที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2.อากาศเสียจากโรงงานห้ามระบายออกจากโรงงานเว้น แต่ได้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนอากาศที่ระบายออกมานั้นมีปริมาณของสารเจือปนไม่เกินกว่าค่าที่กำหนด
3.น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ห้ามระบายออกจากโรงงาน เว้นแต่ได้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนน้ำทิ้งนั้นมีลักษณะเป็นไปตามค่าที่กำหนด 4.ของเสีย มลพิษ หรือสิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องจัดให้มีที่รองรับ ที่ทิ้ง กำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูลตามความจำเป็นที่เหมาะสม พร้อมทั้งแยกเก็บของเสียทีมีพิษ กับไม่มีพิษ หรือวัตถุไวไฟในสถานที่กำจัดด้วยวิถีที่ปลอดภัย ห้ามนำออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมโรงงานให้นำออกไปทำลาย กำจัดทิ้ง หรือฝังกลบตามสถานที่ที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด ปริมาณ คุณสมบัติ สถานที่จัดเก็บของเสีย และวิธีการทำลาย การขนส่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
“หลังจากลงพื้นที่มอบนโยบายในพื้นที่ของแต่และอำเภอแล้ว หากยังพบว่าผู้ประกอบการยังละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือยังมีเสียงร้องเรียนจากประชาชนอีก ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดำเนินการลงโทษขั้นสูงสุด คือ ระงับการดำเนินการกิจการทันที”