มหาสารคาม - มมส.สร้างโรงคัดแยกขยะพร้อมเครื่องจักร อุปกรณ์คัดแยก ใช้หมักขยะทั่วไปและอุปกรณ์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์นำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ จัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เผยช่วยลดปัญหาขยะล้น แต่ละวันปริมาณขยะภายในสถาบันมีมากกว่า 5 ตัน
อาจารย์อารีรัตน์ รักษาศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยถึงแนวคิดการสร้างโรงคัดแยกขยะเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์มาใช้เองว่า เริ่มมาจากการที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีจำนวนนิสิตทุกชั้นปีมากถึง 50,000 คน ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย และสิ่งของเหลือใช้จำนวนมากไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ตัน จึงได้คิดหาวิธีการที่จะกำจัดขยะรีไซเคิลโดยแยกออกเป็น 3 ส่วน
ประกอบด้วย ขยะส่วนที่ 1 เป็นขยะที่ไม่ย่อยสลายประเภทขวดพลาสติก ขวดแก้ว และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันของนิสิตก็ให้แยกไว้ แล้วนำไปขายให้กับจุดรับซื้อของมหาวิทยาลัยในราคามาตรฐานเดียวกับภาคเอกชน ซึ่งเงินที่ได้อาจไม่มาก แต่ถือเป็นการปลูกฝังนิสิตให้ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะ
ขยะส่วนที่ 2 คือขยะที่ย่อยสลายได้ มหาวิทยาลัยได้นำไปผลิตเป็นปุ๋ย ส่วนเศษอาหาร พืชผัก และผลไม้ก็นำไปเลี้ยงไส้เดือนที่โรงปุ๋ยหมักชีวภาพมูลไส้เดือน ขยะในส่วนที่ 3 คือ โรงคัดแยกขยะ โดยนำสารพัดขยะที่เหลือมาผ่านการคัดแยกเบื้องต้นโดยคนงานในชั้นแรกก่อนเท่าที่จะแยกได้ เช่น กล่อง ขวด โฟม พลาสติกต่างๆ
จากนั้นผ่านเข้าเครื่องสายลำเลียง และเข้าเครื่องสับย่อยให้มีขนาดเล็กง่ายต่อการย่อยสลาย จากนั้นนำมากองพักไว้โดยใช้ระบบเติมอากาศ และนำน้ำหมัก EM ที่ผลิตเองมาเติมเพื่อลดกลิ่นและไล่แมลง
อาจารย์อารีรัตน์ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่นำมากลบและผสมก็คือเศษหญ้าที่ตัดแล้วภายในมหาวิทยาลัยเพื่อลดจุดสัมผัสของขยะ ไม่ให้มีแมลงวันมาตอมมากขึ้น เพิ่มอินทรีย์ หรือมวลชีวภาพให้มากขึ้น และได้ปริมาณปุ๋ยที่มากขึ้นด้วย โดยทำการหมักทิ้งไว้ประมาณ 40-45 วัน และเมื่อดูที่อุณหภูมิเหมาะสมแล้วก็จะนำไปเข้าเครื่องร่อนขยะ ออกมาเป็น 2 ลักษณะ คือแบบที่เป็นผงปุ๋ย ก็นำเข้าเครื่องอัดเม็ดพร้อมใช้งานเพื่อบำรุงดินและต้นไม้ได้เลย และอีกส่วนหนึ่งจะออกมาเป็นพลาสติกจะนำเข้าเครื่องอัดเม็ดและใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป
ด้าน รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้สามารถนำไปใส่ให้ต้นไม้ภายในมหาวิทยาลัยเจริญงอกงามดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก และส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามติดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวในอันดับที่ 3 ของประเทศ และอันดับที่ 49 ของโลก โดยเลื่อนลำดับขึ้นจากเมื่อปีที่แล้ว ลำดับที่ 5 ของประเทศ และลำดับที่ 71 ของโลก จากการจัดอันดับของ UI GreenMetric World University Ranking 2013
“เป็นการจัดอันดับการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เข้าร่วม โดยใช้ตัวชี้วัดหลักที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาระบบการจัดการและการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่คำนึงถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป”