อุบลราชธานี - เอ็นจีโอไม่สนวาทกรรมกรมทรัพยากรน้ำ สร้างความชอบธรรมให้การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะหง ซึ่งประเทศลาวสร้างปิดปากแม่น้ำโขงที่น้ำตกหลี่ผี โดยมองเป็นผลกระทบต่อการเดินทางของสัตว์น้ำกว่า 300 สายพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำทั้งไทยและลาว สุดท้ายพากันวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม พร้อมประกาศตามไปที่เวทีจังหวัดนครพนมในวันที่ 12 พ.ย.นี้ด้วย
วันนี้ (10 พ.ย.) ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย จัดรับฟังความเห็นการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะหง ซึ่งจะสร้างในประเทศลาวบริเวณน้ำตกหลี่ผี เมืองโขง แขวงจำปาสัก
ประเทศลาวได้เสนอโครงการผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2556 แก่ประเทศที่เป็นภาคีลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลกระทบจากการก่อสร้างทั้งระบบการไหลของน้ำ การอพยพของพันธุ์สัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพประมงในลุ่มแม่น้ำโขง
กรมทรัพยากรน้ำจึงเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนที่อาศัยและประกอบอาชีพตามลุ่มน้ำให้แสดงรายละเอียดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อนำข้อมูลเสนอให้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) รับทราบภายในเดือนมกราคม 2558 เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมของประเทศที่เป็นภาคีลุ่มน้ำโขง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การเปิดเวทีครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำแสดงความเห็นและนำเสนอข้อมูลด้านผลกระทบ เพื่อรวบรวมส่งให้ประเทศลาวที่เป็นเจ้าของโครงการรับไปดำเนินการแก้ไขก่อนจะสร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้นมา
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความจะสามารถไปยุติการดำเนินโครงการได้ เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตแดนบูรณภาพของประเทศลาว แต่ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกในกลุ่มภาคีลุ่มแม่น้ำโขงสามารถแสดงความห่วงใยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ให้ทางการลาวรับไปดำเนินการแก้ไขได้
“ซึ่งสิ่งที่ทางการไทยเป็นห่วงในเวลานี้คือ การอพยพของปลาและการประกอบอาชีพของคนหาปลาตามลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อคนหาปลาเข้าร่วมแสดงความเห็น ไทยก็จะได้รวบรวมนำข้อมูลส่งให้ลาวรับไปดำเนินการไม่ให้มีผลกระทบเกิดขึ้น”
ขณะที่ น.ส.คำปิ่น อักษร เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายคนรักน้ำโขง จ.อุบลราชธานี ซึ่งนำชาวบ้านเข้าร่วมแสดงความเห็นกับเวทีกล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้เป็นเพียงพิธีกรรมของกรมทรัพยากรน้ำเพื่อนำไปสู่การสร้างเขื่อนขึ้นมา เพราะหากดูข้อเท็จจริงพบว่าชาวบ้านที่เข้ามาร่วมแสดงความเห็นไม่ได้เป็นชาวบ้านที่อาศัยและประกอบอาชีพตามริมแม่น้ำโขง เป็นชาวบ้านมาจากลุ่มน้ำอื่นที่อยู่ด้านบนขึ้นไป
นอกจากนี้ ไม่เชื่อมั่นในการเปิดเวที เนื่องจากเมื่อปี 2555 ชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานีแสดงความเห็นคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรี ที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงก็ไม่ได้รับความสนใจ ประเทศลาวยังคงเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนตามที่เสนอโครงการไว้
“การเปิดเวทีครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมรับรองให้มีการสร้างเขื่อนปิดกั้นทางเดินของสัตว์น้ำจากทะเลสาบของประเทศกัมพูชาเข้าสู่แม่น้ำโขงทางตอนใต้ของลาวและประเทศไทย การสร้างเขื่อนแห่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและแหล่งอาหารของคนลุ่มน้ำตลอดทั้งสาย” ซึ่งพวกตนจะรวมตัวกันต่อต้านการสร้างเขื่อนดอนสะหงจนกว่าจะสำเร็จ
ขณะที่นายอุดม แสงป้อง อายุ 56 ปี พรานปลาจากบ้านค้อใต้ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร กล่าวถึงการสร้างเขื่อนดอนสะหงจะทำให้คนประกอบอาชีพหาปลาตามริมแม่น้ำมูลได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะเป็นสายน้ำที่ต่อเนื่องกับแม่น้ำโขง ซึ่งแต่ละปีจะมีสัตว์น้ำว่ายขึ้นมาวางไข่จำนวนมาก
แต่หลังการสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านที่หากินอยู่ตามริมแม่น้ำก็ได้รับผลกระทบ และหากมีการสร้างเขื่อนดอนสะหงก็ยิ่งซ้ำเติมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำให้หากินได้ลำบากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เพราะปลาจากแม่น้ำโขงจะลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว เพราะถูกปิดกั้นเส้นทางหากินและวางไข่ของปลาจากทะเลสาบเขมรขึ้นมาในแม่น้ำโขง จึงส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูล เพราะเป็นแม่น้ำที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า หลังหยุดพักในช่วงเช้าและกลับเข้ามาประชุมรับฟังความเห็นกันใหม่ได้ประมาณ 15 นาที กลุ่มเครือข่ายคนรักแม่น้ำโขง โดยนายกฤษกร ศิลารักษ์ แกนนำเขื่อนปากมูล ได้ระบุว่า เวทีดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม เพราะเมื่อชาวบ้านสอบถามผลกระทบจากนักวิชาการประมงที่กรมทรัพยากรน้ำนำตอบคำถาม ก็ไม่สามารถให้ความชัดเจน และยังบอกกับชาวบ้านว่าการสร้างเขื่อนดอนสะหงเป็นอธิปไตยของประเทศลาวที่ทำได้
“การจัดเวทีครั้งนี้จึงเป็นเพียงพิธีกรรม เพื่อรับรองความชอบธรรมที่ฝ่ายไทยจะส่งให้ฝ่ายลาวใช้เป็นข้ออ้างในการเดินหน้าสร้างเขื่อนแห่งนี้ต่อไป จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะจัดประชุมย้อนหลังที่ได้มีการอนุมัติโครงการไปแล้ว”
ทำให้กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายคนรักน้ำโขงพากันเดินชูป้ายออกมาหน้าเวทีรับฟังความเห็น ก่อนจะพากันวอล์กเอาต์เดินออกจากที่ประชุมไปก่อนจบการรับฟังความเห็นในช่วงเช้า
ทางกลุ่มยังได้แสดงความเห็นว่า การจัดเวทีครั้งต่อไปที่จังหวัดนครพนมในวันที่ 12 พ.ย.นี้ กลุ่มเครือข่ายคนรักน้ำโขงจะไปเคลื่อนไหวต่อต้านและล้มเวทีอีกครั้งด้วย