xs
xsm
sm
md
lg

“ลำปาง-พะเยา” คุมเข้มการขนย้ายสัตว์ หลังควายเจอโรคระบาดตายเกือบครึ่งร้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง/พะเยา - ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ทางผ่านจังหวัดลำปาง และพะเยา ตรวจเข้มการขนย้ายสัตว์ป้องกันโรคคอบวม และโรคระบาดในสัตว์ หลังมีควายตายกะทันหันที่เชียงรายเกือบครึ่งร้อย

วันนี้ (9 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดโรคระบาดคอบวมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เชียงราย ที่ทำให้กระบือ หรือควายล้มตายกะทันหันกว่า 40 ตัว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปางได้ประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานปศุสัตว์อำเภอใน 13 อำเภอทั่วทั้งจังหวัดลำปาง ให้เข้มงวดการออกใบอนุญาต รวมถึงดูอาการของโรคอย่างน้อย 20 วัน ก่อนเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดเข้ามาในพื้นที่จังหวัดลำปาง

ส่วนในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโค กระบือ ได้มีการประสานงานให้อาสาสมัครปศุสัตว์ และผู้นำหมู่บ้านในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชน กรณีพบโค กระบือ ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ 1-2 ตัวขึ้นไป ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอประจำท้องที่ทันที เพื่อทำการควบคุมป้องกันโรคให้อยู่ในวงจำกัด และเตือนไม่ควรชำแหละซากโค กระบือที่ตายไม่ทราบสาเหตุนำไปรับประทาน แจกจ่าย หรือวางขาย ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเฮโมรายิคเซพติซิเมีย แพร่กระจายการระบาดเป็นวงกว้างได้

ทั้งนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่เลี้ยงโค กระบืออยู่ในขณะนี้ให้นำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งจะคุ้มครองโรคได้ 1 ปี พร้อมกับแนะนำไม่ให้โค กระบือมีภาวะความตึงเครียด ควรจัดหาที่ร่มกันแดดกันฝน และหมั่นทำความสะอาดภายในบริเวณคอกสัตว์อย่างสม่ำเสมอ ให้โค กระบือได้มีที่พักผ่อน หลับนอน ไม่ยืนตากแดดตากฝนเป็นเวลานานๆ

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดลำปางขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปางได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวมในโค กระบือเป็นประจำทุกปี พบแต่พื้นที่จังหวัดข้างเคียงซึ่งอาจมีโคล้มตายไม่ทราบสาเหตุในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงนี้

ด้านนายจำลอง อริยะจักร ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา กล่าวว่า โรคคอบวมติดเชื้อหรือโรคเฮโมรายิกเชฟติซีเมีย เป็นโรคที่มักมีการระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว และสภาพของสัตว์เลี้ยงที่มีความอ่อนแอ ตลอดจนอาการเครียด ซึ่งในพื้นที่จังหวัดพะเยาไม่พบการแพร่ระบาดของโรคมาตั้งแต่ปี 2544

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมการป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยการให้วัคซีนรวมทั้งการดูแลเรื่องความชื้นของโรงเลี้ยง และตอนนี้ทางปศุสัตว์จังหวัดพะเยาได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าทำการป้องกัน โดยการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรดูแลสัตว์เลี้ยง พร้อมดำเนินการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ตรวจตราการเคลื่อนย้ายสัตว์ในช่วงนี้อย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

ขณะที่นายอนันต์ พรหมเสน เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ในพื้นที่ ต.ดอนศรีชุม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา กล่าวว่า หลังทราบข่าว ตนก็ได้มีการเฝ้าระวังพร้อมดูแลฝูงวัวที่เลี้ยงไว้จำนวน 18 ตัวอย่างใกล้ชิด และอยากให้ทางเจ้าหน้าที่เข้าทำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าวไว้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น