xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ฟันธงค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง เชียงใหม่-กรุงเทพฯ 2 บาทต่อ กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์เชียงใหม่ - สนข.จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง ระบุค่าโดยสารเบื้องต้นเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เฉลี่ย 2 บาท/กม. พร้อมเตรียมตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าชดเชยที่ดิน และทรัพย์สินของประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากโครงการ

วันนี้ (30 ต.ค.) ที่ห้องเอ็มเพลสแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมดิเอ็มเพลส จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรจัดสัมมนานำเสนอสรุปผลการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ เพื่อสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับผลการศึกษาโครงการ ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน การลงทุน และสิ่งแวดล้อม แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนา พร้อมรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน จากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน

โดยนายนาวิน สินธุสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดสัมมนาดังกล่าว ทั้งนี้ นายสาธิต มาลัยธรรม วิศวกรโครงการได้นำเสนอสาระสำคัญของผลการศึกษาโครงการฯ ในทุกด้าน ประกอบด้วยแนวเส้นทางโครงการฯ ผ่าน 6 จังหวัด มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีสุโขทัย สถานีศรีสัชนาลัย สถานีลำปาง สถานีลำพูน และสถานีเชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่เป็นแนวเส้นทางตัดใหม่ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีพิษณุโลก ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อจากแนวรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ

โดยมีรายละเอียดของเส้นทางที่จะมีการตัด 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรกพิษณุโลก-ลำปาง ออกจากสถานีพิษณุโลกใช้พื้นที่ในเขตทางรถไฟเดิม ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 12 จากนั้นเลี่ยงซ้ายผ่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เข้าสู่ อ.กงไกรลาส และสถานีสุโขทัย และเข้าสู่สถานีศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย แล้วเบี่ยงขวาผ่าน อ.วังชิ้น อ.ลอง จ.แพร่ จากนั้นยกระดับรถไฟข้ามทางหลวงหมายเลข 1023 แล้วลดระดับเป็นอุโมงค์ลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 11 (เด่นชัย-แขวงลำปาง) ผ่าน อ.แม่ทะเข้าสู่สถานีรถไฟลำปาง

ช่วงที่สองลำปาง-เชียงใหม่ โดยช่วงหนองวัวเฒ่า-สถานีห้างฉัตร ใช้พื้นที่เขตทางรถไฟเดิมผ่าน อ.แม่ทา ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 11 และทางรถไฟเดิมบริเวณสถานีศาลาแม่ทา จากนั้นบรรจบเข้ากับทางรถไฟบริเวณเดิมบริเวณ กม.647+000 ก่อนถึงสถานีรถไฟลำพูนไปประมาณ 10 กม. ไปตามเขตทางรถไฟเดิมจนถึงสถานีรถไฟลำพูน เข้าสู่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทางทั้งสิ้น 288 กิโลเมตร

โดยกำหนดให้มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 3 แห่งที่ จ.สุโขทัย จ.แพร่ และ จ.ลำปาง รวมกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 365 จุด ซึ่งคำนึงถึงความเหมาะสมกับรูปแบบการเดินทางเดิมในท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด โดยมีทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ ทางยกระดับ, ยกระดับรถไฟ, อุโมงค์รถไฟ และทางลอดใต้สะพานรถไฟ โดยออกแบบรองรับความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันออกแบบให้มีความเร็วเฉลี่ยในการให้บริการ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ พบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ 13.19 มูลค่าการลงทุน 232,411 .88 ล้านบาท โดยกำหนดค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เบื้องต้นเฉลี่ย 2 บาท/กม. เมื่อเดินทางจากเชียงใหม่-พิษณุโลก มีค่าโดยสาร 505 บาท/เที่ยว ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมง 24 นาที เท่านั้น

นายประยุทธ เจริญกุล ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมได้นำเสนอมาตรการในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชนแต่ละจังหวัดที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการฯ อาทิ แนวเส้นทางรถไฟที่จะผ่านอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย พื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง นั้น โครงการฯ จะออกแบบโครงสร้างทางรถไฟเป็นอุโมงค์ เพื่อลดผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และไม่รบกวนการดำรงชีพของสัตว์ป่า

การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินจากการพัฒนาแนวเส้นทางโครงการที่ตัดใหม่ตั้งแต่ จ.พิษณุโลก-ลำปาง บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงสุโขทัยและศรีสัชนาลัย รวมทั้งแนวเขตทางรถไฟเดิมบริเวณที่เป็นทางโค้งนั้น โครงการฯ จะดำเนินการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ไม้ผลและไม้ยืนต้น พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการชดเชยทรัพย์สินเพื่อดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สินตลอดแนวเส้นทางโครงการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมมากที่สุดด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

ภายหลังการสัมมนาครั้งที่ 3 สนข.จะนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน และนำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป


นายสาธิต มาลัยธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น