พิจิตร - ชาวเมืองชาละวัน พากันตั้งแท่นทำพิธีเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโยธาธิการและผังเมือง หน้าเวทีรับฟังความคิดเห็น หลังตีกรอบให้พื้นที่ “สากเหล็ก” ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ขณะที่ชาวบ้านต้องการให้เป็นสีเหลือง บอกต้องพัฒนา เปลี่ยนมือรับประชาคมอาเซียน
รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งว่า นายชัยวัฒน์ บูรพาวิจิตรนนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิจิตร และ น.ส.นิรชา บัณฑิตชาติ นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ ได้ร่วมกันเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่องการแก้ไขและวางผังเมืองรวมชุมชน อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร วานนี้ (17 ต.ค.)
ซึ่งนายกิตต์กุลธร สรรพกิตต์กุลธร อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 270/1 หมู่ 1 ต.สากเหล็ก อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร สารวัตรกำนันตำบลสากเหล็ก นายสมควร ภู่ประเสริฐ นายก ทต.สากเหล็ก นายชำนาญ ประภัสโร กรรมการหอการค้าจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยประชาชน และผู้นำชุมชนกว่า 400 คน เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็น
ในเวทีครั้งนี้ นักวิชาการผังเมืองได้เสนอแนวทางอนุรักษ์ให้พื้นที่ใน อ.สากเหล็ก เป็นพื้นที่พัฒนาต้นแบบทางด้านการเกษตร จึงต้องวางผังเมืองในพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เป็นสีเขียว
แต่ชาวบ้านที่มาได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขผังเมืองรวมใหม่ โดยระบุว่า ในปี 2558 ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ดินจึงต้องมีการเปลี่ยนมือเพื่อการลงทุนทำสิ่งปลูกสร้าง จึงต้องการให้แก้ผังเมืองที่ดินริมถนนลาดยางสาย พิจิตร-สากเหล็ก เขาทราย-สากเหล็ก-วังทอง สากเหล็ก-บ้านมุง อ.เนินมะปราง เป็นพื้นที่สีเหลืองข้างละ 1,000 เมตร รวมถึงที่ดินริมถนนคอนกรีตในหมู่บ้านที่มีขนาดความกว้าง 4 เมตรขึ้นไป ก็ขอให้แก้เป็นสีเหลือง ข้างละ 500 เมตร เช่นกัน
แต่ปรากฏว่า นักวิชาการผังเมืองที่มาเป็นวิทยากรไม่สามารถรับปาก หรือให้คำตอบใดๆ ได้ เพราะกระบวนการแก้ไขผังเมืองมีทั้งหมด 18 ขั้นตอน การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นขั้นตอนที่ 4 ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง 2518 เท่านั้น ทำให้ชาวบ้านที่นั่งฟังอยู่เกิดความไม่พอใจ ถึงกับทำพิธีเผาพริกเผาเกลือที่เตรียมมาสาปแช่งที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ไม่เข้าใจความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง
ด้าน นายชัยวัฒน์ บูรพาวิจิตรนนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิจิตร ได้อธิบายว่า โซนสีของผังเมืองที่ชาวบ้านต้องศึกษา คือ สีแดง เป็นย่านธุรกิจการค้าหนาแน่น สีเหลืองเป็นเขตที่อยู่อาศัย สีส้มเป็นเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง สีม่วงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า สีน้ำเงินเป็นที่ตั้งหน่วยราชการ สีเขียวเป็นพื้นที่เกษตรกรรม สีเขียวอ่อนเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อการพักผ่อนและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนมีผลต่อธุรกิจการซื้อขายที่ดิน และการก่อสร้างรวมถึงการใช้ประโยชน์
ซึ่งวัตถุประสงค์ในการวางผังเมือง คือ สามารถสร้างความตกลงใจของคนในชุมชน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะการพัฒนากับการอนุรักษ์ต้องทำควบคู่กันไป
ส่วนที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นมานี้ก็จะน้อมรับไปเพื่อนำเข้าสู่แผนการวางผังเมืองในขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งทุกอย่างจะเปิดกว้างให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ก่อนที่จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ในอนาคตต่อไป