xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นแบงก์เข้มปล่อยกู้ทำผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทยเสียโอกาสสร้างราคาปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย โอ่ตัวเลขส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันฯ ปี 57 มีมากถึง 1.5 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนกว่า 3 แสนล้านบาท เหตุเพราะความต้องการใช้วัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนในต่างประเทศพุ่งสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ผลักดันให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เปิดทางผู้ประกอบการได้สต๊อกสินค้าช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ชดเชยการหั่นราคากันเองที่อาจทำให้สูญเสียโอกาสสร้างราคาที่ดีในปี 58

นายนิยม จุฬาเสรีกุล นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ตัวแทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลังในประเทศได้เข้ารายงานสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังของไทย ในปี 2557 ต่อตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมการผลิต และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลัง รวมทั้งการส่งออกหัวมันสดไปยังตลาดต่างประเทศ

โดยพบว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกหัวมันดิบ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลังไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการส่งอออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยเติบโตขึ้น เป็นเพราะการเพิ่มพื้นที่ปลูกของเกษตรกร หลังพบว่า ราคาจำหน่ายหัวมันดิบ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีแนวโน้มสดใส ขณะที่ราคายางพารา และข้าวโพดกลับไม่ดีเท่าที่ควร จึงหันมาปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกในปัจจุบันมีมากถึง 8.8 ล้านไร่ สามารถผลิตหัวมันสดได้ถึง 32 ล้านตัน ถือเป็นตัวเลขผลผลิตที่มากที่สุด

“ในปีนี้ยังถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของเกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลัง เพราะความต้องการรับซื้อหัวมันดิบจากประเทศจีนมีสูง และสามารถรับซื้อได้หมดเนื่องจากประเทศจีนมีประชากรจำนวนมาก และเมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวยิ่งมีความต้องการวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น อีกทั้งโรงงานผลิตเอทานอลของไทย ก็เริ่มเดินเครื่องการผลิตได้เต็มที่ ทำให้ความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศมีมากตาม แต่ปัญหาที่พบ และหวั่นว่าจะส่งผลต่อการค้ามันสำปะหลังในปีหน้าก็คือ การไม่สามารถรับซื้อหัวมันดิบจากเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมากได้หมด เนื่องจากกำลังซื้อที่มีไม่มากของผู้ประกอบการ”

นายนิยม ยังขยายความว่า ปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลังกำลังพบก็คือ ความเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของแบงก์พาณิชย์ และการไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของรัฐบาล ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่มีสายป่านที่ยาวพอในการรับซื้อหัวมันดิบที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในเดือนธันวาคม ถึงมีนาคมของทุกปี เพื่อรอขายในเดือนมิถุนาย ถึงกันยายน ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศมีอยู่สูง ก็อาจมีผลกระทบต่อราคารับซื้อหัวมันจากเกษตรกร

เพราะเมื่อผู้ส่งออกไม่มีเงินซื้อสินค้าได้หมดก็จะหันมากดราคารับซื้อจากเกษตรกร จนทำให้เกษตรกรต้องจำใจขายผลผลิตในราคาต่ำ และเกิดการหั่นราคาเพื่อขายตัดหน้า ซึ่งถือเป็นการทำลายกลไกตลาดในประเทศ และเมื่อคู่ค้าในต่างประเทศรู้ถึงปัญหาดังกล่าวก็กดราคารับซื้อจากผู้ประกอบการอีกทอดหนึ่ง

“เวลานี้ราคามันสำปะหลังที่ผู้ประกอบการรับซื้อจากเกษตรกรอยู่ที่ตันละ 2.5-2.8 พันบาท แต่ปัญหาของผู้ประกอบการก็คือ ไม่สามารถรับซื้อหัวมันดิบจากเกษตรกรได้หมด และเมื่อขอวงเงินกู้ไปที่แบงก์ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดการตัดราคากันเอง ที่อาจทำให้ราคารับซื้อหัวมันดิบในปีหน้าตกอยู่ที่ 2.5 พันบาทต่อตันเท่านั้น เราจึงให้ข้อมูลไปยังตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ในปีหน้า เกษตรกรจะได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท ดังนั้น การสนับสนุนให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ก็คือหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะในปี 2558 ตลาดมันสำปะหลังของไทยมีทิศทางสดใสมาก” นายนิยม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น