ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-ผู้ว่าฯ โคราชเร่งสางปัญหาบุกรุกป่า “วังน้ำเขียว” หวังให้เป็นโมเดลการแก้ปัญหาให้พื้นที่อื่นทั่วประเทศ สั่งคณะทำงานสรุปสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขส่งจังหวัด 10 ต.ค.นี้เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาชัดเจน ยันกรณีแจ้งความดำเนินคดีให้เดินหน้าต่อตาม กม. และห้ามบุกรุกเพิ่มเติมเด็ดขาด
วันนี้ (1 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการประชุม เช่น เจ้าพนักงานที่ดิน, ปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก.), สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8, นายอำเภอวังน้ำเขียว ผู้แทนจากอุทยานแห่งชาติทับลาน ผู้กำกับการ สภ.วังน้ำเขียว ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เป็นต้น
นายธงชัยกล่าวว่า ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อเรียกดูข้อมูลล่าสุดในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐสร้างรีสอร์ต บ้านพักหรู ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวนั้นเป็นกรณีมีคนอยู่อาศัยกับป่ามาก่อนซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ อ.เสิงสาง อ.ครบุรี ที่ประชาชนเข้าไปบุกรุกป่า ซึ่งหลายฝ่ายได้ให้ความเห็นไว้หลากหลายแนวทาง ทางจังหวัดคือผู้ที่ทำงานในพื้นที่จะต้องกำหนดแนวทางเพื่อเป็นแนวทาง หรือเป็นโมเดล ให้จังหวัดอื่นๆ ได้นำไปใช้ได้ด้วย
โดยการประชุมครั้งนี้ได้ให้หน่วยงานต่างๆ รวบรวมข้อมูลและแนวทางความเห็นของคณะทำงานด้านต่างๆ ที่ทางจังหวัดแต่งตั้งขึ้นมา โดยยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะมีพื้นที่ของหลายหน่วยงานอยู่ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ทั้ง ป่าสงวนแห่งชาติ, ส.ป.ก. และเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยไปสรุปแนวทางมาและให้ส่งรายงานทั้งหมดมาที่จังหวัดภายในวันที่ 10 ต.ค.นี้ เพื่อให้ทางจังหวัดศึกษารายละเอียดและนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพื่อหาทางออกอย่างชัดเจนให้กับเรื่องดังกล่าว
“วันนี้ในที่ประชุมได้มีการหยิบยกมติ ค.ร.ม. ปี 2543 ขึ้นมาพูดคุยด้วย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอว่าให้ยึดแนวเขตปี 2543 เป็นหลัก หากใครอยู่นอกเขตก็ให้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ เรื่องนี้เราจะนำมาพิจารณาในการหาทางออกให้ อ.วังน้ำเขียวด้วย” นายธงชัยกล่าว
นายธงชัยกล่าวอีกว่า การเข้ามาดำเนินการของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ที่มีตนเป็นประธาน เป็นการต่อยอดจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การรื้อเรื่องขึ้นมาเริ่มใหม่ ซึ่งการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้บุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติทั้งกว่า 300 คดี ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน ตามกระบวนการของกฎหมาย และขอให้เดินหน้าเต็มที่ เช่นเดียวกันที่ ส.ป.ก.ได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้วกว่า 10 คดี ก็ให้ดำเนินการต่อไปเช่นกัน
การเข้ามาดูแลของคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาองค์รวม โดยยึดหลักของความเป็นจริงตามด้วยหลักกฎหมาย เช่น หากมีการเปลี่ยนมือกรณีที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เพื่อทำรีสอร์ตก็มีความผิดชัดเจนดำเนินคดีทันที แต่หากเปลี่ยนมือมาทำเกษตรโดยเกษตรกรผู้ยากจนเป็นเจ้าของรายใหม่ก็ปรับให้มันถูกต้อง หรือหากเจ้าของเดิมเช่นลูกหลานได้รับมรดกตกทอดแล้วเปลี่ยนอาชีพมาทำร้านอาหาร หรือโฮมสเตย์ ก็ควรส่งเสริมเพราะถือเป็นการที่เกษตรกรรู้จักพัฒนาตัวเองเพื่อหลีกหนีจากความยากจน ควรได้รับการยกย่องด้วยซ้ำ แต่กรณีเข้ามาบุกรุกใหม่ต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด