สุโขทัย - ชาวบ้านทนไม่ไหวพากันร้องสื่อ ถูก จนท. 2 หน่วยงานรัฐหลอกตบทรัพย์ไร่ละ 3 พัน อ้างเคลียร์ให้ทำกินในป่าได้ สุดท้ายกลับถูกจับดำเนินคดีหมด แถม “คนรัฐชุดดำ” ตระเวนเก็บดะทั้งส่วยเลื่อยยนต์-กระบะคอกสูง พร้อมลากไส้นายทุนฉาวเล่นกลฮุบป่าปลูกยาง-ปาล์ม รอ ส.ป.ก.
วันนี้ (24 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ได้มาร้องเรียนต่อสื่อมวลชน กรณีถูกจับกุมข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล ว่า ถูกเจ้าหน้าที่บางคนจากหน่วยงานรัฐ 2 แห่ง หลอกเอาเงินไปโดยอ้างว่า “ถ้าใครเข้าไปทำกินในพื้นที่ป่าสงวนต้องจ่ายไร่ละ 3,000 บาท แล้วไม่ต้องกลัวจะถูกจับดำเนินคดี เพราะสามารถเคลียร์ได้”
แต่หลังจาก กอ.รมน.จังหวัด ร่วมกับตำรวจ และฝ่ายปกครองท้องถิ่น เข้ามาตรวจสอบพื้นที่บุกรุก ชาวบ้านทั้งหมดก็ถูกจับดำเนินคดี โดยไม่มีใครเคลียร์ได้ตามที่กล่าวอ้าง
ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ที่มาร้องเรียนครั้งนี้เพราะอยากให้สังคมรับรู้ปัญหาการบุกรุกป่าสุโขทัยมีมานานแล้ว โดย “คนรัฐชุดดำ” จะมีทีมวิ่งเก็บส่วยรายวัน เช่น เลื่อยยนต์วันละ 500 บาท ส่วนรถกระบะคอกสูงที่ขนไม้สักจากบ้านแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง เข้ามายังสุโขทัย ต้องจ่ายคันละ 3,000 บาท พร้อมเคลียร์เส้นทางให้วิ่งได้อย่างสะดวก
สำหรับการลักลอบตัดไม้มีค่าในพื้นที่ภูเขาสูงจะใช้คนแบกหามลงมา ถ้าถูกจับกุมโดยหน่วยอื่น “คนเป็นนาย” จะมาเคลียร์ให้ อ้างว่าคนละเขตกัน ถ้าใครไม่จ่ายก็จะถูกจับ และยึดของกลางเพื่อเอาไปขายต่อ
ส่วนกรณีการบุกรุกที่ดินเพื่อออก ส.ป.ก.4-01 จะมีการแอบอ้างมติ ครม. 30 เม.ย. 2550 เพื่อหลอกเอาเงินชาวบ้าน อ้างว่าจะช่วยให้คนบุกรุกป่าได้สิทธิในที่สุด โดยข้ออ้างมีสิทธิในพืชผลอาสินที่ได้ปลูกสร้างไว้ จนกว่าจะพิสูจน์สิทธิได้ หรือเมื่อคดีถึงที่สุด สภาพป่าสมบูรณ์ก็เสียไปแล้ว กลายเป็นป่าหมดสภาพอยู่ดี ยังไงก็ได้ ส.ป.ก.
ชาวบ้านรายเดิมเผยอีกว่า ล่าสุดมีการส่งคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกแล้วนับหมื่นไร่ แต่ก็ยังมีนายทุนมาขอซื้อสิทธิครอบครองต่อจากชาวบ้านอีก เชื่อว่า คสช.พ้นอำนาจเมื่อไหร่ การบุกรุกป่าสุโขทัยก็จะกลับมาเหมือนเดิม คือ ชาวบ้านถูกจับถูกยึดที่คืน แต่กลุ่มนายทุนกับคนของรัฐบางคนก็ยังคงเข้าไปครอบครองที่ดิน ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันอยู่
โดยเฉพาะบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำแม่กองค่าย อ.บ้านด่านลานหอย รวมทั้งในป่าแม่พันลำ-ป่าแม่มอก ติดต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม และที่บ้านแม่ทุเลาใน อ.ทุ่งเสลี่ยม ซึ่งมีการเข้าจับกุมเมื่อปลายปี 56 แต่ปัจจุบันพบว่ายังคงมีการปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อหวังผลจากนโยบายของกรมป่าไม้ ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับกรมป่าไม้ เก็บเกี่ยวผลผลิตยางพารากับปาล์มน้ำมันที่ปลูก 2 ปีขึ้นไป ไม่ต้องทำลาย แต่รอให้โตจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต
ซึ่งในความเป็นจริง อปท.ก็ไม่กล้าเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะกลัวอำนาจของนายทุนที่เป็นเจ้าของสวน ในที่สุดป่าก็เป็นของนายทุนอยู่ดี