กำแพงเพชร - รวมพลังบูรณะกำแพงเมือง และคูเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ตามสโลแกน “คนเมืองกำแพง เพื่อกำแพงเมือง”
วันนี้ (19 ก.ย.) ที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร นายสุรพล วาณิชเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัด พล.ต.ต.ประเสริฐ กาฬรัตน์ ผบก.ภ.จว. พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล ภาครัฐ เอกชนกว่า 3,000 คน ร่วมกิจกรรมพัฒนากำแพงเมืองและคูเมืองเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ภายใต้สโลแกน “คนเมืองกำแพง เพื่อกำแพงเมือง” เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นายสุรพล กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด แต่ระยะเวลาผ่านไปทำให้สภาพคูเมือง และกำแพงเมืองทรุดโทรม มีวัชพืชขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ภูมิทัศน์ไม่สวยงาม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้กลับมามีความสะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายที่จะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และรองรับนักท่องเที่ยวงานสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพง ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึงวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง
นายรณชัย จิตรวิเศษ ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง และเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดปัจจุบัน ลักษณะเมืองมีรูปคล้ายกับสี่เหลี่ยมคางหมู วางยาวขนานไปกับแม่น้ำ ความยาวของกำแพงเมืองด้านเหนือประมาณ 2,400 เมตร ด้านใต้ประมาณ 2,160 เมตร ความกว้างด้านตะวันออกประมาณ 540 เมตร และความกว้างด้านตะวันตกประมาณ 220 เมตร กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงเป็นชั้นเชิงเทิน ตอนบนสุดก่อเป็นรูปใบเสมา มีประตูเมืองโดยรอบรวม 10 ประตู กำแพงเมืองยังมีป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรง ทั้งที่บริเวณมุมเมืองทั้ง 4 มุม และในแนวกำแพงเมือง
รวมทั้งยังมีป้อมรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านหน้าประตูเมืองด้วย ถัดจากกำแพงเมืองศิลาแลงเป็นคูเมืองกว้างประมาณ 30 เมตร จากการที่เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง จึงพบหลักฐานเกี่ยวกับการทดน้ำจากแม่น้ำปิง เพื่อนำน้ำเข้าสู่คูเมืองบริเวณมุมหัวเมือง และเมื่อน้ำล้นคูเมืองเกินความจำเป็น ก็จะระบายออกที่ด้านมุมท้ายเมืองลงสู่ลำคลองธรรมชาติ
ภายในเมือง และนอกเมืองกำแพงเพชรมีซากโบราณสถานใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถาน เนื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ กลางเมืองมีวัดพระแก้ว วัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง เป็นลักษณะวัดหลวง มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว เป็นบริเวณที่เรียกว่าสระมน (เชื่อกันว่าเป็นบริเวณวังโบราณ) และเทวสถานศาลพระอิศวร ซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือ มีกลุ่มวัดโบราณขนาดใหญ่น้อยประมาณ 40 แห่ง สร้างอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อม จัดเป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร
โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบถ วัดฆ้องชัย วัดนาคเจ็ดเศียร วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดเตาหม้อ วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่ ซึ่งกลุ่มโบราณสถานเขตอรัญญิกนับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร ด้วยโบราณสถานสร้างรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีขนาดใหญ่โตอลังการ ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีความงดงามทางศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร