xs
xsm
sm
md
lg

7 สมาคมปศุสัตว์ เตรียมยื่นหนังสือนายกฯ ยืนยันผลิตเนื้อสัตว์ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - 7 สมาคมปศุสัตว์ เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกฯ ยืนยันผลิตเนื้อสัตว์มาตรฐานอาหารปลอดภัย วอนประชาชน “หยุดส่งต่อคลิปทำลายอุตสาหกรรมเกษตรของชาติ”

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ร่วมกันแถลงข่าว หัวข้อ “หยุดส่งต่อคลิปทำลายอุตสาหกรรมเกษตรของชาติ”

ทั้งนี้ ระบุว่าภาคปศุสัตว์ของไทยโดยสมาคมปศุสัตว์ทั้งหมดมีความพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อยกระดับเกษตรกรของไทยให้ก้าวสู่สากล แต่กลับมีบุคคลบางกลุ่มที่พยายามบั่นทอนความน่าเชื่อถือของวงการเกษตรและอาหารไทย ผ่านคลิปวิดีโอหนึ่งที่อ้างว่า กระบวนการผลิตอาหารของไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการผลิต รวมถึงเกษตรกรในระบบคอนแทรกฟาร์ม มักจะเป็นหนี้ไม่สิ้นสุดจากการทำงานของสัตวบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และส่งผลเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย เผยเตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอความร่วมมือ และเรียกร้องให้ประชาชนหยุดส่งต่อคลิปดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย

นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า วิชาชีพสัตวบาลมีหน้าที่โดยตรงในการดูแล และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยมุ่งเน้นควบคุมในเรื่องอาหารปลอดภัย ตลอดกระบวนการผลิตสัตว์ ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จนถึงโต๊ะอาหาร (from farm to table) ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวบาลจะมุ่งมั่นในหลักการ “รับใช้สังคม ส่งเสริมสามัคคี ศักดิ์ศรีเชิดชู รอบรู้ทันโลก” โดยเน้นเรื่องความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพดี เพื่อลดต้นทุนทั้งด้านการเลี้ยง และการใช้ยารักษา ที่จะส่งผลให้เกิดผลผลิตสัตว์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค การทำงานร่วมกันระหว่างสัตวบาล และเกษตรกรในระบบคอนแทรกฟาร์มจึงเป็นไปในลักษณะพี่เลี้ยงที่ดูแลให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ บางบริษัทวัดผลงานของสัตวบาลจากประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สัตวบาลจะมุ่งยัดเยียดให้เกษตรกรลงทุนจนเป็นหนี้ไม่รู้จบ

ขณะที่ระบบคอนแทรกฟาร์ม เป็นเครื่องมือสากลในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และมีบริษัทเกษตรทั้งพืช และสัตว์จำนวนมากที่นำระบบนี้ไปประยุกต์ใช้ หัวใจของคอนแทรกฟาร์มคือ การทำธุรกิจของเกษตรกรที่มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ภายใต้การผลิตที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่บริษัทจำเป็นต้องกำหนดให้เกษตรกรทำตาม เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิต และความปลอดภัยในอาหาร อันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ การที่สถาบันการเงินเสนอเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้เพิ่มขึ้น ย่อมหมายความว่าลูกหนี้รายนั้นมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และมีความสามารถในการผ่อนชำระซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ มิใช่การเป็นหนี้ไม่รู้จบของเกษตรกรในระบบ

ด้าน น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เผยว่า สมาคมฯร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดทำมาตรการร่วมกันในการเร่งปรับปรุงการเลี้ยง และจัดทำมาตรฐานฟาร์มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมการใช้ยา และเวชภัณฑ์ในการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในกระบวนการผลิตหมูของไทยที่มีพัฒนาการ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลิตเนื้อหมูคุณภาพสูงสำหรับการบริโภค

“สัตวแพทย์คือ ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์ ที่ยืนหยัดในการแนะนำทั้งการเลี้ยง การจัดการ และการควบคุมโรค เช่น การดูแล การเฝ้าระวังสัตว์ป่วย ระยะการหยุดยา การทำลายซาก ตลอดจนสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรคแก่ผู้ประกอบการ ผู้คนในชุมชน ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความสำนึกรับผิดชอบต่ออาชีพ และสังคมโดยรวมเพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค” น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เสริมว่า ในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยทุกคนต่างมุ่งผลิตสุกรที่มีคุณภาพ และอยู่ภายใต้มาตรฐาน และการกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ ขอให้มั่นใจในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย

ด้าน นายสมศักดิ์ ฤทธิ์จรุง นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ และ น.สพ.ประกิต เพียรศิริภิญโญ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงาน และเกี่ยวเนื่องต่อคนจำนวนมาก ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ การขนส่ง แรงงานในโรงงาน รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ จนถึงการส่งออก และยังเป็นตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตรของไทย ทางสมาคมฯ จึงขอวอนทุกท่านพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมาจากการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก และมีการส่งออกเนื้อไก่ 80-90% ไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 ตลาดนี้ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกฎระเบียบที่ห้ามใช้ฮอร์โมน และสารปฏิชีวนะในการเลี้ยงไก่ และที่ผ่านมา ไทยปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตทั้งในประเทศ และมาตรฐานสากลอย่างครบถ้วน ผู้ประกอบการไทยล้วนให้ความสำคัญต่อการรักษามาตรฐาน และระบบปฏิบัติด้านการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม จนถึงมือผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด โดยยึดถือความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่ประเทศคู่ค้าทั้ง 2 จะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจระบบการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยอาหารทุกปี ดังนั้น การกล่าวหาว่าไก่ไทยมีสารปฏิชีวนะตกค้างจึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ปัจจุบัน ประเทศไทยดำเนินการผลิตอาหารภายใต้มาตรฐานสากล เช่น GAP, GMP, HACCP, ISO9002, ISO14001, TIS18001, ISO/IEC17025, BRC รวมถึง HALAL ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต และเป็นที่ยอมรับของตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับภาคการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ที่มีมาตรฐานฟาร์ม และโรงงานที่ต้องผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่ว่าด้วยการเลี้ยงสัตว์อย่างไม่แออัด และปราศจากการทรมานสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อการบริโภค เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) โดยในระบบการผลิตที่ฟาร์มจะมีสัตวแพทย์กำกับดูแล และที่โรงงานจะมีนายสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ตรวจเนื้อของกรมปศุสัตว์ประจำโรงงาน เพื่อตรวจคุณภาพเนื้อ และสารตกค้างต่างๆ ก่อนนำไปจำหน่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น