ร้อยเอ็ด - ทั้งพระ และชาวบ้านในอำเภอทุ่งเขาหลวง ผวาตลิ่งริมน้ำชีพังเป็นระยะทางยาวร่วม 2 กิโลเมตร จนวัดที่สร้างริมฝั่งลำน้ำต้องรื้อศาลาทิ้งหนีปัญหา แต่ก็ยังพังต่อเนื่อง หวั่นเซาะพังถึงเมรุเผาศพ และศาลาหลังใหญ่ ในขณะที่ชาวบ้านเองก็นอนไม่หลับ เพราะอีก 3 เมตร ตลิ่งจะเซาะพังถึงบ้าน ตั้งข้อสังเกตสัมปทานขุดทรายในลำน้ำชีอาจะเป็นต้นตอปัญหา
ช่วงเช้าวันนี้ (12 ก.ย.) นายพิทยา กุดหอม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดร้อยเอ็ด นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันภัยเดินทางไปสำรวจตลิ่งริมลำน้ำชีที่วัดศรีสว่าง บ้านขว้าง หมู่ 8 ต.มะบ้า อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อสำรวจสภาพความเสียหายของบริเวณวัดที่รับผลกระทบจากการพังของดินในวัดติดลำน้ำชี โดยมีชาวบ้าน และเจ้าอาวาสวัดนำเดินสำรวจ
พระอธิการนิพนธ์ รติโก เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง กล่าวว่า ทางวัดประสบกับปัญหาตลิ่งพังเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 40 ปี หลังจากมีการก่อสร้างวัดแห่งนี้ไม่เคยพบปัญหา โดยตลิ่งริมน้ำชีบริเวณท่าน้ำของวัดพังลงไปในลำน้ำชี ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.57 ที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่ระดับน้ำก็ไม่ได้ท่วมสูง และอยู่ในสภาวะปกติ หลังเกิดเหตุได้ทำการสำรวจความเสียหายรายงานไปยังอำเภอ เพื่อให้หาทางช่วยเหลือ
แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข ล่าสุด เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ฝนตกต่อเนื่อง ตลิ่งก็ยังคงพังทลายเพิ่ม จนพื้นที่บริเวณหน้าวัดหายไปในน้ำแล้วประมาณ 2 ไร่ และพังทลายรุกเข้ามาจนถึงศาลาเก็บวัสดุสิ่งของของวัด ที่ยาว 30 เมตร จนต้องรื้อตัดโครงหลังคา และรื้อออก 15 เมตร เพราะเกรงว่าจะถูกน้ำเซาะพังทลายลงไปทั้งหลัง และไม่ไกลจากจุดนี้ไม่กี่เมตร ก็จะถึงเมรุเผาศพ และศาลาหลังใหญ่อีก
การพังของตลิ่งมีลักษณะเป็นแนวยาวระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร นอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่วัดแล้ว ยังมีชาวบ้านจำนวนมากได้รับผลกระทบจากปัญหาตลิ่งพังเช่นกัน ทั้งใน อ.ทุ่งเขาหลวง และ อ.เสลภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อ
ด้านนางอุไรวรรณ ทิสามี อายุ 59 ปี ชาวบ้านท่าไคร้ หมู๋ 8 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า บ้านของตนก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร หรือเป็นเพราะการดูดทรายในลำน้ำชีเป็นต้นเหตุ ตนก็ไม่สามารถพิสุจน์ได้เอง เพราะหลังจากเคยเกิดเหตุตลิ่งพังลักษณะนี้ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาตลิ่งพังอีก
“ช่วงนี้พวกเราซึ่งมีบ้านอยู่ติดลำนำชีนอนผวาทุกคืน กลัวบ้านพังลงน้ำ ตอนนี้ตลิ่งที่พังห่างจากรั้วบ้านไม่ถึง 1 เมตร และอีกไม่เกิน 3 เมตร ก็จะพังมาถึงเสาบ้านแล้ว ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จึงร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ และหาทางช่วยเหลือ”
ทางด้านนายพิทยา กุดหอม ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นทางวัดมีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการขอไม้จากชาวบ้านนำมาตอกเป็นแนวกั้นดินพัง แต่ไม่มีเครื่องจักรกลหนักที่จะทำการตอกไม้ได้ และขาดกำลังคน ในส่วนของชาวบ้านก็ต้องการความช่วยเหลือ ตนจะทำรายงานสภาพปัญหาส่งมอบให้ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้รับทราบ เพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โยธาธิการ เข้ามาเร่งแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านต่อไป