อุบลราชธานี - จังหวัดอุบลราชธานี เต้น! หลังตรวจพบคนโตตระกูลดังเมืองอุบลฯ รุกครอบครองที่ดินสาธารณะบุ่งสระพังกว่า 1,400 ไร่ พบร่วมมือกับข้าราชการขี้ฉ้อโกงที่หลวงเป็นขบวนการ เตรียมเสนอกรมที่ดินเพิกถอนทั้งหมด พร้อมฟ้องร้องเอาผิดทั้งแพ่ง และอาญา เล็งตั้งกรรมการสอบข้าราชการขี้ฉ้อทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณไปแล้ว เสนอใช้กฎหมาย ปปง.เข้ายึดทรัพย์ผู้ร่วมขบวนการทั้งหมดอีกด้วย
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ห้องประชุมย่อยกองอำนวยการความมั่นคงภายในจังหวัดอุบลราชธานี (กอ.รมน.) นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย พ.อ.ไชยอนันต์ คำชุ่ม รอง ผบ.มทบ.22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ พ.อ.เวิน จำปาสา รอง ผอ.กอ.รมน.อุบลราชธานี พ.ต.อ.สมพจน์ ขอมปรางค์ รอง ผบก.ภ.จ.อุบลราชธานี และคณะทำงานชุดขับเคลื่อนการแก้ปัญหาบุกรุกที่สาธารณะบุ่งสระพัง ต.กุดลาด อ.เมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 1,400 ไร่
ตามที่ชาวบ้านในตำบลกุดลาด ร้องเรียนต่อ คสช.ว่า มีการออกโฉนดโดยไม่ชอบ เพราะรุกล้ำที่ดินสาธารณะติดแม่น้ำมูล เดิมชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต และเมื่อกลุ่มนายทุนเข้ายึดครองได้ปลูกต้นยูคาลิปตัส และทำแนวรั้วกั้นห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์
เบื้องต้น จากการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีพบว่า มีชื่อ นายประสาน เรืองกาญจนเศรษฐ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานี และเป็นน้องชายนายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ได้ซื้อพื้นที่ลักษณะจับจองมาจากชาวบ้านเมื่อปี 2533 จำนวน 150 ไร่
ต่อมา ปี 2534 ได้ออกเอกสารเป็น น.ส.3 จำนวน 150 ไร่ตามเดิม แต่ในความเป็นจริงมีการครอบครองที่ดินครอบคลุมพื้นที่สาธารณะทั้งหมดกว่า 1,400 ไร่ กระทั่งถึงปี 2548 มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินตามอัตภาพ กลุ่มนายทุนที่เป็นเครือญาติของนายประสาน จึงยื่นเรื่องให้รังวัดที่ดินทั้งหมด ซอยย่อยแบ่งออกเป็น 46 แปลง เพื่อไม่ให้ผู้ครอบครองแต่ละคนมีที่ดินเกินรายละ 50 ไร่ ตามเงื่อนไขของโครงการ
หลังการประชุมคณะทำงานนำโดย พ.ต.อ.สมพจน์ ขอมปรางค์ รอง ผบก.ภ.จ.อุบลราชธานี เข้าตรวจสอบที่ดินสาธารณะแปลงดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า ตนได้รับคำสั่งจากคณะ คสช.ให้เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนการได้มาของที่ดิน จึงเรียกพยานมาให้ปากคำกว่า 30 ปาก ซึ่งให้การระบุว่า เดิมเป็นที่ดินน้ำท่วมถึง ต่อมา เมื่อกลุ่มนายทุนเข้าครอบครองมีการถมหนองน้ำ ถมดินให้สูงขึ้น หลังมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ และสร้างถนนตัดผ่ากลางที่ดินเมื่อปี 2539
“การเวนคืนดังกล่าวทำให้กลุ่มทุนได้รับเงินค่าเวนคืนที่ดินเมื่อปี 2539 เป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท และนำที่ดินบางแปลงเข้าจำนองต่อสถานบันการเงินในวงเงินกว่า 12 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นยูคาลิปตัส คิดเป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท” พ.ต.อ.สมพจน์ กล่าวและว่า
และได้ขอออกเป็นโฉนดเมื่อปี 2551 ข้อสังเกตของที่ดินทั้งหมดคือ แม้จะมีชื่อผู้ครอบครองหลายคน แต่ล้วนเป็นเครือญาติของนายประสาน เรืองกาญจนเศรษฐ์ และที่ดินบางแปลงก็ยังเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้าทางออก จึงเป็นข้อพิรุธสงสัยว่าแท้จริงแล้ว ที่ดินทั้งหมดเป็นของคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ ปปง.เข้ามาตรวจสอบ และตามยึดเอาเงินที่กลุ่มนายทุนได้รับประโยชน์ไปคืนกลับมาให้แก่ทางราชการด้วย
ขณะที่ นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า หลังเจ้าหน้าที่ประชุมและดูหลักฐานเชื่อว่าที่ดินทั้งหมดเป็นที่สาธารณะซึ่งได้มาโดยมิชอบ คณะทำงานจะเสนอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 46 แปลง ต่อกรมที่ดิน และแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ครอบครองทางแพ่ง และทางอาญา
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง หากยังรับราชการจะถูกตั้งกรรมสอบสวนทางวินัย หรือถ้าเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ต้องถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานร่วมกันกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ พร้อมเสนอให้ใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปี 2542 เข้ามายึดทรัพย์สินผู้ทำผิดด้วย
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ พ.อ.สมหมาย บุษบา เสนาธิการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 2 จะนำทีมกฎหมายของกองทัพเข้าดูพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐานเพิ่มเติมตามคำสั่งของ คสช.เพื่อดำเนินการต่อกลุ่มผู้บุกรุกด้วย