ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยา รอผลตรวจสอบรังวัดที่ดินโครงการคอนโดฯ ยักษ์อย่างเป็นทางการ หากรุกที่สาธารณะพร้อมส่งนิติกรดำเนิคดี ด้าน ผอ.ส่วนควบคุมอาคารระบุ ผลสืบสวนกองปราบมีความคืบหน้า เน้นความโปร่งใสการออกโฉนด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ห้องแถลงข่าวโฆษกเมืองพัทยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายญัตติพงศ์ อินทรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคาร สำนักการช่างเมืองพัทยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ “Water Front Suite & Res ident บริเวณเชิงเขา สทร.5 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง ซึ่งกำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลก Social Network เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการอนุมัติการก่อสร้างโครงการ และปัญหาการบดบังสภาพภูมิทัศน์การท่องเที่ยวของเมืองพัทยา
โดย นายญัตติพงศ์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีการร้องขอให้เมืองพัทยา ตรวจสอบการใช้ที่ดินของโครงการ ว่า มีการดำเนินการตามเอกสารสิทธิหรือไม่ เนื่องจากพบว่า การขุดเจาะแนวเชิงเขา รุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งล่าสุด เมืองพัทยาได้ประสานเจ้าพนักงานสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินทั้ง 7 แปลงของบริษัท
เบื้องต้นพบว่า ตัวอาคารมีการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ของโฉนดถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำ มีเพียงด้านหลังอาคารที่มีการขุดเจาะแนวเขา ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ลาดเอียงเข้าไปประมาณ 3-5 เมตร ตลอดแนวความยาวกว่า 50 เมตร และการทำถนนทางเข้า-ออกโครงการทับพื้นที่นอกเขตโฉนด
ซึ่งแม้ทางบริษัทยืนยันว่า ไม่มีเจตนารุกล้ำ แต่ที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างกำแพงกันแนวโฉนด และจะมีการถมที่ดินคืนสภาพหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ กรณีดังกล่าวนั้นจากการคะเนด้วยสายตาแล้ว พบว่า มีการรุกล้ำจริง แต่จำเป็นต้องรอหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากสำนักงานที่ดินเสียก่อน จากนั้นจึงจะนำเรื่องเสนอฝ่ายกฎหมาย ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันคงจะรู้ผล
นายญัตติพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่หลายคนต้องข้อสังเกตเรื่องแนวถนนหน้าโครงการ ที่ถือเป็นโครงการต่อเนื่องจากถนนพัทยาสาย 3 ว่า มีการลดขนาดผิวการจราจรหน้าโครงการจาก 16 เมตรเป็น 10 เมตร เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่โครงการเกี่ยวกับกรณีการ Setback พื้นที่ว่างนั้น เรื่องนี้ขอยืนยันว่าคงไม่ใช่ เนื่องตั้งแต่ถนนพัทยาสาย 3 จนถึงจุดถมดินสร้างท่าเทียบเรือ และถนนหน้าโครงการ ถือเป็นงบประมาณ และการจัดสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามแผนการฟื้นฟูและบูรณะเมืองพัทยา จากแผนแม่บทของไจก้า ในช่วงก่อนที่จะมีการก่อสร้างโครงการหลายปี
และถือว่าเป็นถนนในโครงการท่าเทียบเรือ ไม่ใช่ถนนสาธารณะ เพราะคำจำกัดความของถนนสาธารณะนั้นเป็นถนนตามธรรมชาติที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน แต่ถนนเส้นดังกล่าวเป็นถนนในโครงการที่จัดทำขึ้นภายหลัง โดยเมืองพัทยา ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะเข้าไปกำกับดูแล หลังจากที่กรมโยธิการและผังเมือง มอบพื้นที่ให้เมืองพัทยาแล้วเท่านั้น
ขณะที่การเว้นแนวถนนรอบโครงการระยะ 6 เมตร ตามกฎหมาย ถือว่ามีการเว้นระยะอย่างถูกต้อง เพียงแต่หลายคนอาจเข้าใจว่า การเว้นระยะดังกล่าวจะวัดจากแนวขอบทางเดินเท้าบริเวณด้านข้าง แต่แท้ที่จริงแล้วจะวัดจากแนวกึ่งกลางของถนนเป็นหลัก เช่น ถนนกว้าง 10 เมตร กึ่งกลางคือ 5 เมตร และขยายออกอีก 1 เมตร ก็จะได้ระยะ 6 เมตร ซึ่งก็ตรงตามข้อกำหนด จะทำให้สามารถปลูกสร้างอาคารได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับเรื่องระยะห่างจากระดับน้ำทะเลปานกลางในระยะ 100 เมตร ที่หลายคนระบุว่าแม้จะมีการถมที่ดิน 12 ไร่ และทำให้ระดับน้ำทะเลห่างออกไป แต่ที่จริงแล้วการขึ้นลงของน้ำทะเลยังอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ระยะการเว้นยังคงเดิมนั้น กรณีนี้ขอยืนยันอาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการวัดค่าจากระดับน้ำทะเลในระยะ 100 เมตรนั้น จะต้องวัดจากจุดที่น้ำทะเลปะทะกับแนวชายฝั่งช่วงสุดท้าย ซึ่งจะมีการตั้งค่านับเป็น 0 ก่อนจะวัดจากแนวดังกล่าวกลับเข้าในแผ่นดินในระยะ 100 เมตร ซึ่งพบว่า กรณีนี้ถูกต้อง และสามารถก่อสร้างได้
นายญัตติพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองพัทยาได้มอบหมายให้กองปราบปราม เข้ามาทำการตรวจสอบเกี่ยวกับขั้นตอนการออกโฉนดที่ดิน ว่า มีความถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งเรื่องของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนส่วนใหญ่สงสัยว่าอาจมีขั้นตอนไม่โปร่งใส ทั้งเรื่องของการจัดทำประชาพิจารณ์ การจัดเว้นช่วงแนวเขต การขุดเจาะแนวเขาที่ลาดเอียง หรือข้อกำหนดตามที่ระบุไว้ในกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคงจะมีผลสรุปและสามารถชี้ได้ว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการถูกต้องหรือไม่ในเร็ววันนี้