พะเยา - หลายหน่วยงานระดมหาทางแก้ปัญหาจราจรหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา หลังมีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ห้องประชุมบวร รัตนประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา คณะกรรมการเพื่อดำเนินงานแก้ไขปัญหาความปลอดภัยจราจรหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการ ม.พะเยา, ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา, ตำรวจภูธรจังหวัด, ตำรวจ สภ.เมืองพะเยา, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา
หลังจากที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุทางถนนหลายครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งนักศึกษา และประชาชนที่ใช้รถสัญจรไปมาผ่านหน้ามหาวิทยาลัยแห่งนี้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงผู้ที่ใช้รถสัญจรผ่านหน้ามหาวิทยาลัย
สำหรับสภาพปัญหาการจราจรที่ผ่านมาหน้ามหาวิทยาลัยพะเยามักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากจุดกลับรถไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีทางหลบรถที่วิ่งมาด้วยความเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ, การไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรของนักศึกษา และประชาชนที่มีการขับรถย้อนศรเส้นทางบริเวณดังกล่าว
อีกทั้งการจราจรในช่วงเปิดเทอมที่มีการจราจรคับคั่งเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงทำให้หลายหน่วยงานต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ด้านผู้แทนแขวงการทางพะเยาเปิดเผยว่า ทางแขวงการทางพะเยามีแนวทางในการที่จะติดตั้งสัญญาณไฟจราจร และวางแท่งแบริเออร์เพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำแผนเสนอของบประมาณดำเนินการ
ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี ม.พะเยา ไม่เห็นด้วยกับการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่เป็นทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง โดยได้เสนอให้แขวงการทางพะเยาปรับสร้างถนนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยาเป็นเส้นทางคู่ขนาน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ถึงแม้อาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวก็ตาม
ด้านนายวรวิทย์ บูรณศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เห็นด้วยกับการสร้างทางคู่ขนาน และเสนอให้มีการบริหารจัดการการจัดระเบียบการจอดรถบรรทุกที่มาจอดขนส่งสินค้า การจำกัดความเร็วรถ รวมถึงได้เสนอแผนระยะยาวโดยการขุดอุโมงค์รอดหน้ามหาวิทยาลัยด้วย
นายหัสนัย แก้วกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา ระบุว่า ควรแบ่งแผนแก้ไขปัญหาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ประกอบด้วยการจัดระเบียบรถบรรทุก และตลาดนัด ระยะที่ 2 เป็นแผนระยะยาว ต้องมีการระดมหน่วยงานหรือบุคคลที่มีความรู้มาร่วมแก้ไขปัญหา และทำเป็นแผนนำเสนอการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม
ขณะที่ตำรวจภูธรจังหวัดพะเยาได้เสนอให้มีการจัดระเบียบร้านค้าแผงลอยที่รุกล้ำถนนให้เป็นระเบียบ และบีบถนนให้เล็กลงเพื่อเป็นการจำกัดความเร็วรถ ป้องกันอุบัติเหตุและลดความรุนแรงได้