xs
xsm
sm
md
lg

พบ “แพร่” ติดอันดับเมืองหมักหมม-ขยะล้นติดอันดับ 8 ผู้ว่าฯ จี้ 83 อปท.จัดการก่อนสิ้นตุลาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพร่ - เผยจังหวัดแพร่กลายเป็นเมืองหมักหมมอันดับ 8 ของประเทศ มีขยะสะสมมากถึง 360,000 ตัน ผู้ว่าฯ-ทสจ.จี้ อปท.ทั่วจังหวัดฯ ทั้ง 83 แห่งเร่งเคลียร์ให้จบก่อนสิ้นตุลาคม 57 นี้ พร้อมเริ่มเดินหน้าแผนสร้างโรงงานขยะผลิตกระแสไฟฟ้าต่อ

วันนี้ (31 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้จังหวัดแพร่ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่มีขยะสะสมมากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ ถือเป็นจังหวัดที่มีปัญหาขยะล้นเมืองไม่ต่างกับ กทม. หรือเชียงใหม่ และมีการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการทิ้งขยะของ อปท.ทั้ง 83 แห่ง มีการกองขยะไว้กลางแจ้ง ปะปนอยู่กับขยะอันตราย และปริมาณเพิ่มขึ้นจนอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง

นางมยุรี ผลดีประสิทธิ์ ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม ทสม. แพร่ กล่าวถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภารรัฐและเอกชน (กรอ.) ครั้งล่าสุด ว่า การจัดการขยะที่ผ่านมาจังหวัดแพร่มีปัญหามาก โดย อปท.เป็นผู้ดำเนินการจัดการขยะ แต่ยังขาดมาตรฐานการจัดการ ทำให้จังหวัดแพร่มีขยะสะสมเป็นอันดับ 8 ของประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีการเร่งรัดจาก คสช.ให้เร่งแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ เพื่อหาแนวทางจัดการขยะแบบยั่งยืนต่อไป

โดยแนวทางจัดการขยะของจังหวัดแพร่ที่ดำเนินการ คือ 1. การจัดการขยะแบบกลุ่มย่อย คือ อปท.จับกลุ่ม 4-5 แห่ง จัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง 2. จัดการขยะแบบเดี่ยว คือ อปท.ขนาดใหญ่เป็นผู้จัดการขยะทั้งระบบ และเน้นที่การจัดการขยะปลายทางที่ต้องลงทุนสูง

นอกจากนั้นยังมีการจ้างเหมาบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ ขณะนี้มี 2 บริษัทที่เข้ามาประสานงานเพื่อร่วมดำเนินการ คือที่ อ.สอง และที่ ต.เหมืองหม้อ อ.เมือง ซึ่งที่ อ.สอง มีการทำประชาพิจารณ์ผ่านไปแล้วจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะได้ มีความสามารถกำจัดขยะได้วันละ 12 ตัน ส่วน อ.เมือง เป็นโรงกำจัดขนาดใหญ่กำจัดขยะได้วันละ 450 ตัน ซึ่งทั้งสองโรงงานนำเอาความร้อนที่ได้จากโรงงานมาผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป

และจากการประชุมผู้บริหารเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 57 ที่ผ่านมา มีข้อสั่งการให้ อปท. จัดการขยะที่ค้างอยู่ด้วยการฝังกลบให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 57 นี้ โดยพบว่า อปท.ที่สามารถฝังกลบได้ด้วยตัวเองมี 26 แห่ง ส่วน อปท.ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ต้องทำข้อตกลงร่วมกับ อบจ.แพร่ นำเครื่องจักรไปช่วยมี 12 แห่ง และอีก 15 อปท.ที่มีการจ้างเอกชนดำเนินการ จะต้องดำเนินการฝังกลบด้วยเช่นกัน ที่เหลือเป็น อปท.ที่มีการจัดการขยะร่วมกับชุมชน

จากนั้นสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่จะเข้าไปสำรวจประเมินเพื่อจัดทำเป็นสถิติ เสนอต่อกรมควบคุมมลพิษต่อไป

ด้านนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่ไม่น่าจะมีปัญหาขยะ แต่ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการทำให้จังหวัดแพร่กลายเป็นจังหวัดที่ไม่มีการจำแนกขยะ ปล่อยให้ขยะสะสมมากขึ้น โดยมีการกองขยะอย่างไม่ถูกต้อง คือ กองทิ้งไว้กลางแจ้งมากถึง 360,000 ตัน ทำให้แพร่กลายเป็นจังหวัดสกปรกมากอันดับ 8 ของประเทศ ปัญหานี้จังหวัดแพร่ทราบดีและดำเนินการวางแผนก่อนที่ คสช.จะมีคำสั่งออกมา

“อปท.ทุกแห่งควรจัดการขยะให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เคลียร์ขยะ 300,000 กว่าตันให้จบหมด ส่วนขยะปกติดำเนินการต่อไม่ยาก เนื่องจากมีปริมาณน้อยไม่ถึง 50 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ ส่วนวัสดุอันตรายและเศษเหลือจากอุตสาหกรรมมีน้อยมาก”

ผู้ว่าฯ แพร่กล่าวอีกว่า การจัดการขยะในจังหวัดแพร่ นอกจากโรงงานกำจัดขยะแล้ว การจัดการในระดับต้นทางคือ ออกจากครัวเรือนถ้ามีการคัดแยก และนำไปทำประโยชน์ต่อ จังหวัดแพร่น่าจะมีขยะไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป ถ้าสร้างวินัยให้กับประชาชนในการจัดการขยะ จังหวัดแพร่จะก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบของการจัดการขยะแบบยั่งยืนได้

“ในอนาคตอันใกล้แพร่จะเจริญเติบโตด้วยเส้นทางรถไฟเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปัญหาขยะจะมากขึ้น การวางแผนที่ดีจะทำให้รองรับปัญหาในอนาคตได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น