ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมโรงงานเปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนในจังหวัดที่มีศักยภาพเจริญเติบโตสูงครั้งแรกที่โคราช เผยเร่งดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัดทั่วประเทศที่มีศักยภาพสูง คาดรวบรวมข้อมูล 8 เดือนก่อนสรุปนำเสนอจังหวัดเพื่อสอดรับกับผังเมือง หวังพัฒนาอุตฯ เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐาน สวล. และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างสมดุล
วันนี้ (28 ส.ค.) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อม นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาร่วมกันเปิดตัวโครงการและระดมความคิดเห็นโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนในจังหวัดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง (จ.นครราชสีมา, ขอนแก่น และสระบุรี)
โดยได้รับความสนใจจากนักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ โดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างสมดุล
นายพสุเปิดเผยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยที่ผ่านมามีการกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง เช่น เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากมีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม ลอจิสติกส์ ที่มีความสะดวก รวมทั้งมีแหล่งตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้าที่ผลิต แต่การขยายตัวดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามาก ทั้ง ปัญหาความแออัด มลภาวะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่ โดยให้เป็นพื้นที่เฉพาะเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความเจริญของแต่ละภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา เป็นต้น
การจัดการพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning Planning) อย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่นั้นเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2555-58 โดยการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่และส่งเสริมให้มีเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องมีการดูแลด้านมลพิษ
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้จะดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัดทั่วประเทศ ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น และสระบุรี ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในวันนี้ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี และสุพรรณบุรี และกลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย จ.ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา
การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดรับกับผังเมืองรวมของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นการรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค ซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพแข่งขันของประเทศ และเป็นปัจจัยในการสร้างงาน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ และส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 อีกด้วย