xs
xsm
sm
md
lg

มทส.โคราชแจง นศ.หลงป่า อช.ทับลาน เหตุทำผิดกฎ สั่งเพิ่มมาตรการดูแลเข้มข้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - มทส.แจงนักศึกษาหลงป่าทับลานเพราะทำผิดกฎ โรยตัวลงมาเดินตามร่องน้ำแล้วกลับทางเดิมไม่ได้ทำให้พลัดหลงเข้าไปลึก เผยตลอด 20 ปีที่ นศ.ลงฝึกภาคสนามไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้ น้อมรับความผิดพลาด ยันจะเพิ่มความระมัดระวังและเข้มงวดขึ้น

วันนี้ (26 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีนักศึกษาคณะวิศวกรรมธรณี ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) 6 คน หลงป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยหายไปบริเวณน้ำตกสวนห้อม ป่าเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากป่ามาได้ด้วยความปลอดภัยว่า ล่าสุด มสท. โดย รศ.ร.อ.อ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ด้วยสาขาวิศวกรรมธรณีมีการจัดการเรียนการสอนรายวิชา 538418 Geological Engineering Project ให้แก่นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมธรณี ชั้นปีที่ 4 วัตถุประสงค์ให้นักศึกษามีทักษะในการสำรวจพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลของลักษณะหินและดินเพื่อจะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น การสร้างสะพาน เขื่อน อุโมงค์ เป็นต้น

ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมธรณี โดยก่อนจะถึงชั้นปีที่ 4 และออกฝึกภาคสนามจริง นักศึกษาจะผ่านการเรียนภาคทฤษฎี ฝึกหัดการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ วิธีการเก็บข้อมูล และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลในรายวิชาอื่นๆ รวมทั้งฝึกประสบการณ์การออกสำรวจป่า ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์โดยตลอด

ทั้งนี้ นักศึกษา 17 คนที่ได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาในภาคการศึกษานี้ ได้ออกปฏิบัติภาคสนามในพื้นที่การฝึกอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยมีอาจารย์ดูแล 2 คน และนักศึกษาระดับปริญญาโท ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนอีก 4 คน ได้ออกไปให้คำแนะนำ ซึ่งการออกปฏิบัติการนอกสนาม นักศึกษาจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีผู้ชายอย่างน้อย 1 คน อยู่ภายใต้การดูแลของคณาจารย์และผู้ช่วยสอน มีพื้นที่การสำรวจรอบค่ายฝึก ขนาด 3 ตารางกิโลเมตร ใช้เวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยมีกฎระเบียบที่นักศึกษาจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามปีนขึ้นเขา ห้ามโรยตัว ห้ามตัดหรือฟันต้นไม้ (เนื่องจากเป็นเขตอุทยาน) และนักศึกษาต้องเริ่มเดินทางกลับค่ายพักก่อนเวลา 15.00 น. เพื่อให้ถึงค่ายพักก่อนเวลา 17.00 น. ซึ่งมีแสงอาทิตย์อยู่ นักศึกษาจะได้รับแจกแผนที่ เข็มทิศ และแต่ละกลุ่มจะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบที่มี GPS อยู่ในกลุ่มอย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อที่จะได้ทราบพิกัดของตัวเองตลอดเวลา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีนักศึกษา 2 กลุ่มรวมกลุ่มกันเพื่อออกสำรวจในเส้นทางเดียวกัน แต่เนื่องจากเส้นทางมีต้นไม้และกิ่งไม้มาก ช่วงหนึ่งนักศึกษาจึงโรยตัวลงมาเพื่อเดินไปตามทางที่เป็นร่องน้ำ แต่เนื่องจากความชันของพื้นที่ทำให้นักศึกษาไม่สามารถปีนกลับขึ้นมาใช้เส้นทางเดิมได้ จนเมื่อเวลา 16.00 น. อาจารย์ได้รับโทรศัพท์จากนักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มว่าไม่สามารถเดินทางกลับเข้าที่พักได้ จากพิกัดที่นักศึกษาให้อยู่ห่างจากที่พักประมาณ 1.5 กิโลเมตร อาจารย์จึงแนะนำให้นักศึกษาใช้เส้นทางที่จะกลับเข้าค่ายใหม่ ซึ่งง่ายกว่าเดิม แต่นักศึกษาอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงทำให้ใช้เส้นทางผิดและเดินห่างออกไปอีก

ต่อมาเมื่อเวลา 18.00 น.ได้รับการติดต่ออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ได้แนะนำเส้นทางที่อยู่ใกล้กับจุดที่มีกลุ่มพี่เลี้ยงอยู่ แต่ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนจึงเดินลึกเข้าไปอีก จนกระทั่งเวลา 19.00 น. อาจารย์ได้สั่งให้นักศึกษาหยุดอยู่กับที่ เพราะเป็นเวลาพลบค่ำ และทราบพิกัดที่ชัดเจนแล้ว โดยส่งกลุ่มเพื่อนและชาวบ้านเข้าไปรับ ทีมค้นหาประกอบด้วย นักศึกษา 6 คน ชาวบ้าน 7 คน ได้กำหนดเส้นทางเพื่อเดินเข้าไปรับนักศึกษาตามที่ทราบพิกัด ซึ่งมีระยะห่างออกไป 2 กิโลเมตร แต่เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนและเป็นพื้นที่ป่า ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจึงสามารถเข้าไปรับนักศึกษากลุ่มนี้ออกมาได้ โดยได้พบนักศึกษาในเวลา 23.00 น.

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎของการฝึกอย่างเคร่งครัด และนักศึกษาขาดประสบการณ์และความชำนาญในพื้นที่ ทั้งนี้ สาขาวิชาวิศวกรรมธรณีได้ใช้พื้นที่การฝึกดังกล่าวในการเรียนการสอนมาเกือบ 20 ปี จึงเชื่อได้ว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์นักศึกษาพลัดหลงจริง ทีมผู้ควบคุมการฝึกก็สามารถจะค้นหาจนพบเพราะทราบพิกัดและมีสัญญาณติดต่อประสานกันได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่านักศึกษาหลงทางและได้รับอันตรายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสาขาวิชาจะใช้ความระมัดระวัง และเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งขอขอบคุณเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน หน่วยกู้ภัย และชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญ และช่วยเหลือนักศึกษาจนสามารถกลับเข้าที่พักได้โดยสวัสดิภาพ ซึ่งสาขาวิศวกรรมธรณีจะใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์ในการอบรมนักศึกษาเมื่อออกสำรวจในครั้งต่อๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น