สระบุรี - โรงไฟฟ้าหนองแซง กลุ่มบริษัทกัลฟ์ และมูลนิธิพลังงานไทย สานต่อความสำเร็จสร้างชาวนาต้นแบบ เดินหน้าส่งเสริมโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนปีที่ 3 ส่งเสริมการทำนาอินทรีย์ วิถีพอเพียง ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรทำนา ฟื้นฟูผืนดิน ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
ที่บ้านหนองหลัว หมู่ 1 ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี วันนี้ (23 ส.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น.นายมาโนทย์ พงษ์พาลี ผู้จัดการโรงไฟฟ้าหนองแซง นำพนักงานโรงไฟฟ้าหนองแซง และเกษตรกรชาวนา ต.หนองกบ อ.หนองแซง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมโครงการทำนาร่วมกันโดยวิธีการทำนาแบบโยนกล้าอินทรีย์ เพื่อสร้างชาวนาต้นแบบในการทำเกษตร ทำนาแบบปลอดสารเคมี และวิถีการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแปลงสาธิตเพื่อการเรียนรู้ของชุมชนและขยายผลการทำนาที่ฟื้นฟูผืนดิน และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ชุมชนในกิจกรรมโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน จัดทำแปลงนา สาธิตนา โยนกล้าอินทรีย์
โดยมีนายธนญ ตันติสุนทร กรรมการมูลนิธิพลังงานไทยเป็นวิทยากร มีนายประเสริฐ นุ่มรอด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกบ พร้อมกับประชาชนใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมการโยนกล้าในแปลงนาสาธิต ของนายพศิน นางแสงจันทร์ บัวโทน เลขที่ 40 หมู่ 1 ต.หนองกบ อ.หนองแซง จำนวน 6 ไร่
ในกิจกรรมจัดให้มีพิธีบูชาแม่โพสพ การโยนกล้าลงแปลงนาในครั้งนี้ ใช้พันธุ์ข้าวปลูก เรียกว่าพันธุ์ “ไรท์บารี” ซึ่งขณะนี้เป็นที่ต้องการของตลาดระดับสูง ราคาจะแพงกว่าข้าวขาวโดยทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาด เป็นข้าวที่มีคุณค่าธาตุอาหารสูงกว่าข้าวชนิดอื่น ขณะเดียวกัน การหันมาทำนาอินทรีย์ ถือเป็นการลดต้นทุนในการทำนา ฟื้นฟูดินในท้องทุ่งให้มีความสมบรูณ์ สุขภาพชาวนาปลอดสารเคมี และยาฆ่าแมลง ผู้บริโภคข้าวก็ปลอดภัย
โครงการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน โดยการสนับสนุนของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ และมูลนิธิพลังงานไทย ร่วมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาให้หันมาทำนาอินทรีย์ ในฟื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี ปีนี้เป็นปีที่ 3 โรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทกัลฟ์ โรงไฟฟ้าอุทัย ได้จัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเข้าไปส่งเสริมให้ชาวนาในพื้นที่อำเภออุทัย จัดทำแปลงนาสาธิตโดยวิธีโยนกล้า วิถีการผลิตแบบอินทรีย์ชีวภาพ ไม่พึ่งพาสารเคมี เป็นแหล่งเรียนรู้สร้างชาวนาต้นแบบ
ในปีแรกมีแปลงนาสาธิตเกิดขึ้นที่ อบต.สามบัณฑิต จำนวน 4 ไร่ พื้นที่ทำนา อบต.บ้านช้าง จำนวน 5 ไร่ พื้นที่โพสาวหาญ 7 ไร่ รวมพื้นที่การทำนาที่เข้าร่วมโครงการ 16 ไร่
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน และการพึ่งตนเอง เช่น การปลูกผัก เลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงหมูหลุม ทำปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น เพื่อการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประสบผลสำเร็จในหลายพื้นที่ของประเทศไทย