xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงแหลมกลัด ถูกเมือกแมงกะพรุนเข้าตาเสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวประมง ต. แหลมกลัด ถูกเมือกแมงกะพรุนเข้าตาเสียชีวิต ขณะเก็บอวนปู-ปลา
ตราด- พบชาวประมง ต.แหลมกลัด ถูกเมือกแมงกะพรุนเข้าตาเสียชีวิต ขณะเก็บอวนปู ปลา ด้านแพทย์เผยผู้ตายติดเชื้อโรครุนแรงจากเมือก แต่ไม่ใช่พิษจากแมงกะพรุนแน่นอน

วันนี้ (22 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากญาตินายเล็ก เสรีรันต์ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 107 ม.5 ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ว่า เสียชีวิตจากแมงกะพรุน หลังรับแจ้งผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปห้องไอซียู โรงพยาบาลตราด

เมื่อไปถึงพบญาติพี่น้องของ นายเล็ก เสรีรันต์ นั่งรอเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนำศพออกมาจากห้องไอซียู โดย น.ส.พรมิมล อรชร ลูกสาวผู้เสียชีวิตเปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 20 สิงหาคม 2557 โดยนายเล็ก ได้ออกเรือไปวางอวนปู อวนปลา บริเวณหน้าชายแดน ต.แหลมกลัด ระหว่างที่เก็บอวนอยู่นั้นมีแมงกะพรุนติดอวนขึ้นมาด้วย

แต่เมือกแมงกะพรุนได้กระเด็นเข้าตาซ้าย จนเกิดอาการคัน และได้ใช้น้ำล้างตามปกติ ก่อนที่พ่อตนเองจะนำเรือกลับเข้าฝั่งตามปกติ แต่เช้าวันรุ่งขี้นอาการไม่ดี ตาบวม และปิด จึงได้ตัดสินใจมารักษาอาการที่อนามัยใกล้บ้าน แต่ก็ไม่ดีขึ้น จึงย้ายมารักษาต่อที่โรงพยาบาลตราดได้เพียง 1 คืน อาการก็เริ่มทรุดลงเรื่อยๆ จากนั้น จึงนำตัวเข้าห้องไอซียู แต่อาการไม่ดีขึ้น และหัวใจหยุดเต้น ซึ่งแพทย์ได้พยาบาลปั๊มหัวใจช่วยชีวิตนานกว่า 30 นาที และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

น.ส.พรมิมล กล่าวต่อว่า พ่อตนเองเป็นคนชอบดื่มสุรา และเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตราดมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากสาเหตุดังกล่าวรวมอยู่ด้วย

ด้านนายแพทย์เกตุวุฒิ อธิเวศ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรม โรงพยาบาลตราด กล่าวว่า การเสียชีวิตของนายเล็ก เสรีรัตน์ ยืนยันว่า เกิดจากการติดเชื้อของเมือกแมงกะพรุน

เบื้องต้นมี 2 สาเหตุ คือ เชื้อโรคที่มากับเมือกแมงกะพรุน และสารก่อการระคายเคือง ทำให้เยื่อบุตาเปิด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ได้เกิดจากพิษของแมงกะพรุนแต่อย่างใด ซึ่งในวันแรกที่นายเล็ก เข้ามารักษาตัวนั้น แพทย์ได้ฉีดยาปฏิชีวนะ 2 เข็ม และช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่เพียงวันเดียว นายเล็ก เกิดอาการไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน และการติดเชื้อรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และย้ายนายเล็กไปรักษาต่อที่ห้องไอซียู

จากนั้นได้ตรวจเลือด พบการติดเชื้อรุนแรงส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และยืนยันว่าการเสียชีวิตของนายเล็ก ไม่ได้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องที่มีการกระบาดอยู่ในแถบเกาะกูดและเกาะหมากเท่านั้น แต่บริเวณชายฝั่งด้าน ต.แหลมกลัด นั้นยังไม่มี แต่ก็ได้จัดชุดเฝ้าระวังและสำรวจการกระบาดอยู่เป็นระยะ

นายแพทย์เกตุวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมือ 6-7 ปี ก่อน มีผู้สื่อข่าวออสเตรเลีย ถูกพิษแมงกะพรุนกล่อง บริเวณเกาะกูด จนหัวใจหยุดเต้น ซึ่งครั้งนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ช่วยชีวิตไว้ได้ ก่อนที่จะส่งตัวไปรักษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย

จากนั้นผู้สื่อข่าวรายนี้ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมเป็นอาสาสมัครให้ความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุน โดยถิ่นกำเนิดของแมงกะพรุนกล่องนั้น อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ระยะหลังมานี้ แมงกะพรุนกล่องได้ระบาดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพิษของแมงกะพรุนกล่องนั้น ถ้าได้รับโดยตรงจะส่งผลให้หัวใจหยุดเต้น และต้องได้รับการช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน

นอกจากนั้น หากถูกพิษของแมงกะพรุนกล่อง ให้รีบนำน้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพื่อลดประสิทธิภาพของพิษแมงกะพรุนกล่องที่จะเข้าสู่ร่างกาย
นายแพทย์เกตุวุฒิ  อธิเวศ  หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรม โรงพยาบาลตราด ชี้้  ติดเชื้อโรครุนแรงจากเมือก แต่ไม่ใช่พิษจากแมงกะพรุนแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น