xs
xsm
sm
md
lg

เฝ้าระวังน้ำทะลักเข้าเขื่อนลำปาว ยันมีพอป้อนพื้นที่เกษตร 3 แสนไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ -โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่เข้าเขื่อนช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน ขณะปริมาณน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 682 ล้าน ลบ.ม. ยังเพียงพอต่อการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 3 แสนไร่

วันนี้ (15 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่าน้ำฝนยังคงไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ จากเดิมมีน้ำเหลืออยู่เพียง 18% ล่าสุดมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 682 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 34 % จากความจุอ่าง 1,980 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากนี้ไปต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนคาดว่าจะมีพายุลูกใหม่เข้ามา ประกอบกับอยู่ในช่วงน้ำหลาก ซึ่งทุกปีในช่วงนี้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายนริศ วงษ์เวช หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวที่ 1 ยังคงเฝ้าติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวอย่างใกล้ชิด พร้อมกับกำชับให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรพร้อมในการปฏิบัติการทันที หากเกิดปัญหาพนังขาดหรือน้ำท่วม

นายนริศกล่าวว่า ระดับน้ำในเขื่อนลำปาวอยู่ในภาวะที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีโอกาสเกิดพายุพัดผ่าน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง แต่หากเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงเพราะเขื่อนลำปาวยังรองรับน้ำได้อีกมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันทางเขื่อนส่งน้ำเข้ายังคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย และส่งน้ำลงไปยังแม่น้ำลำปาว และแม่น้ำชี เฉลี่ยวันที่ 2.2 ล้าน ลบ.ม.เพื่อรักษาระบบนิเวศ และช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก และการประมง ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 300,556 ไร่ และเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา 4,557 ไร่
นายนริศ วงษ์เวช หน.ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะมีพายุลูกใหม่เข้ามา จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอีกจำนวนมาก
 โดยล่าสุดมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 682 ล้าน ลบ.ม.หรือ 34 % จากความจุทั้งหมด 1,980 ล้าน ลบ.ม.
กำลังโหลดความคิดเห็น