ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กนอ.เล็งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภาคอีสานใน 3 จังหวัด ขอนแก่น-อุดรธานี-นครพนม เผยขอนแก่นมีศักยภาพสูง เหตุเป็นศูนย์กลางทุกด้าน มีสถาบันการศึกษารองรับพัฒนาบุคลากรป้อนอุตสาหกรรม
วันนี้ (13 ส.ค. ) ที่ห้องประชุมมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการศึกษาความเหมาะสม จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดขอนแก่น โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เพื่อศึกษาภาพรวมโครงการ และคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้แนวคิดการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Estate) ผังแม่บท ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับภาพรวมการศึกษาความเหมาะสม จังหวัดที่อยู่ในแผนการศึกษา ประกอบด้วย ขอนแก่น อุดรธานี และนครพนม โดยการคัดเลือกพื้นที่เพื่อผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จำเป็นต้องดูนโยบาย ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงลักษณะทางกายภาพ และระบบสาธารณูปโภค การวิเคราะห์ศักยภาพ โอกาสและข้อจำกัด และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น
นายศรีวณิก หัสดิน รองผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยถึงความน่าจะเป็นว่า จ.ขอนแก่น ความเป็นไปได้สูงทั้งด้านกายภาพ บุคลากร ทั้งยังเป็นศูนย์กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก ความพร้อมของประชากร และอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยก็มีความพร้อมในการผลิตบุคลากรป้อนเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม
รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีนตอนใต้) ทำให้จังหวัดขอนแก่นได้รับการคัดเลือกให้เป็นจังหวัดที่น่าสนใจในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ดูความเป็นไปได้ว่ามีความพร้อมด้านใด ตลาดอยู่ที่ไหน และไม่เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“นี่เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นเรื่องความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ หากภาคเอกชนมีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ก็สามารถมานำเสนอกับ กนอ.ได้ เพื่อจะได้เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป”
นายศรีวณิกกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ต้องจัดระบบระเบียบของโรงงานให้อยู่ในที่เดียวกัน ใช้ระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน มีระบบบำบัดน้ำเสีย มีการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการทำซีเอสอาร์หรือการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม จะไม่ให้โรงงานกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ เพราะหลักการทำนิคมอุตสาหกรรมจะรวมทุกอย่างให้เป็นระบบ มีระเบียบ ทั้งเรื่องน้ำเสีย อากาศเสีย สามารถควบคุมได้ตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ขอนแก่นมีพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ต้องเป็นพื้นที่สีม่วงหรือสีม่วงคาดขาว ซึ่งไม่ใช่พื้นที่การเกษตร โดย ต.ดอนหัน อ.เมือง เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขอนแก่น ที่เคยมีภาคเอกชนโดยบริษัท แบรนด์ ซิตี้ จำกัด เสนอให้ กนอ.อนุมัติจัดตั้งนั้นคาบเกี่ยวระหว่าง ต.ท่าพระ กับ ต.ดอนหัน ซึ่งเป็นเพียงการนำเสนอของเอกชนเท่านั้น แต่หากมีศักยภาพและได้พื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป ก็สามารถขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขอนแก่นได้เช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กนอ.ไม่ทราบว่าโครงการนี้ยุติไปแล้ว หลังมีปัญหาซื้อขายที่ดิน