ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง จัดโครงการปะการังเทียม “ประภาคารปลา การท่าเรือฯ เฉลิมพระเกียรติ” ระยะ 3 หวังสร้างแหล่งหลบภัย และจุดเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบท่าเรือ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานในการจัดการประมงชายฝั่งปัองกันเรืออวนลาก อวนรุน เข้าแย่งพื้นที่หากินชาวประมง
วันนี้ (13 ส.ค.) ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการปะการังเทียม “ประภาคารปลา การท่าเรือฯ เฉลิมพระเกียรติ” ระยะ 3 ที่บริเวณเขาแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธาน และมี นางวัชรา จูงจิตรดำรงค์ ผู้ตรวจการประจำผู้อำนวยการ ปฏิบัติงาน ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์
โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่สืบเนืองมาจากปี 2554 ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และได้วางปะการังเทียม จำนวน 150 แท่ง บริเวณเขาแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณทางน้ำของการท่าเรือแหลมฉบัง
นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศทางทะเล ภายใต้เป้าหมายคือ การกำหนดให้ปะการังเทียมเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล สำหรับการขยายพันธุ์ของกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ
และในปี 2556 การท่าเรือฯ ได้จัดวางปะการังเทียมต่อเนื่องจากแนวเดิมอีก 300 แท่ง ซึ่งเมื่อทำการสำรวจ และติดตามผลก็พบว่าแท่งปะการังมีเพรียงเกาะอยู่หนาแน่น รวมทั้งยังมีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอาศัย และแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมากขึ้น
ดังนั้น ในปี 2557 ท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้ดำเนินโครงการปะการังเทียมต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 โดยจะวางแท่งปะการังเทียมต่อเนื่องจากระยะที่ 2 อีกจำนวน 300 แท่ง เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยและการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำอันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่ประกอบอาชีพประมง ตลอดจนส่งเสริมให้บริเวณเขาแหลมฉบัง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลได้อย่างยั่งยืน
ร.ต.ตมนตรี ฤกษ์จำเนียร รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า จากการสำรวจผลการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ทะเลบริเวณเขาแหลมฉบัง มีจำนวนปูม้าเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับปลาชนิดต่างๆ รวมทั้งปลาสายพันธุ์ใหม่ได้เข้ามาอาศัยในจุดที่มีการวางปะการังเทียมเป็นจำนวนมาก
“จากการทำโครงการดังกล่าวจนถึงระยะที่ 3 เราพบว่า จุดที่เลือกวางปะการังเทียม เป็นจุดที่ไม่กีดขวางเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ และอยู่ไม่ไกลจากฝัง จึงทำให้ชาวประมงสามารถหาสัตว์ทะเลเพื่อจำหน่ายได้ง่าย ที่สำคัญในอนาคตยังจะง่ายต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หากจำนวนปะการัง และกัลปังหามีจำนวนมากขึ้น ก็จะทำให้ชาวบ้านสามารถนำเรือพานักท่องเที่ยวชมปะการัง โดยใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น”
ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง มีความมั่นใจว่าการวางปะการังเทียมระยะที่ 3 อีกจำนวน 300 แท่ง จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเล และช่วยสร้างสมดุลในธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
รวมทั้งใช้ปะการังเทียมเป็นมาตรฐานในการจัดการประมงชายฝั่งเพื่อปัองกันเรืออวนลาก อวนรุน เข้ามาแย่งพื้นที่หากินของชาวประมงได้อีกด้วย