xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชน 8 จังหวัดเสนอให้ คสช.ปฏิรูปสังคมภาคตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สระแก้ว - ภาคประชาชน 8 จังหวัดภาคตะวันออก ร่วมกันพัฒนาพร้อมยื่นข้อเสนอสู่การปฏิรูปสังคมต่อ คสช. โดยขอให้มีการปฏิรูปเรื่องกฎหมาย การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสัดส่วนในการกำหนดผังเมือง กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และลงโทษอย่างจริงจัง พร้อมขอให้รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการจัดการตนเองด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (31 ก.ค.) ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมจาก 8 จังหวัดภาคตะวันออก จาก 14 องค์กร ยื่นข้อเสนอสู่การปฏิรูปสังคม จังหวัดภาคตะวันออก โดย ดร.สมนึก จงมีวศิลป์ นักวิชาการในพื้นที่ภาคตะวันออก ร่วมหารือ พร้อมเผยว่า ในวันนี้ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม จาก 8 จังหวัดภาคตะวันออก ได้มีการหารือร่วมกัน พร้อมทั้งทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ทั้งนี้ เนื่องจากภาคตะวันออก มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเฉพาะตัว คลุมพื้นที่ป่ามรดกโลกตอนบนของภาคที่เป็นแหล่งอาหาร และยาพื้นบ้าน พื้นที่ราบตอนกลางที่อุดมด้วยน้ำท่า และการเกษตร จนถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันเป็นที่พำนักของสัตว์วัยอ่อน มีผลิตผลด้านอาหารทั้งบนบก ในน้ำ และทางทะเลที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หล่อเลี้ยงประชากรทั้งใน และต่างประเทศ

การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นแผนพัฒนาชิ้นสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างมากด้วยระยะเวลาเพียง 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2524 และหากไม่มีการทบทวนทิศทางการพัฒนา คาดได้ว่าจะส่งกระทบต่อคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น นำมาซึ่งความล่มสลายของชุมชนท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้คน และการเสียสมดุลในการพัฒนา

วันนี้ สิ่งที่คนภาคตะวันออกเผชิญเป็นเรื่องใหญ่ รุนแรง เร็ว และมาจากพลังทุนข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคีที่ตระหนักถึงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงได้หาทางออกร่วมกัน โดยเห็นว่าทุกภาคส่วนในสังคมต้องสร้างการเชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ และพลังในการปกป้องวิถีชุมชน และฐานทรัพยากรท้องถิ่น และร่วมมือกันกำหนดอนาคตที่ยั่งยืน

ในเรื่องของ วิถีชีวิต / อาชีพ / วัฒนธรรม มีวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม มีอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นหน้าตาของภาคตะวันออก มีอาชีพประมงที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ มีวัฒนธรรมมากมายที่ควรอนุรักษ์เรียนรู้ เหตุการณ์ปัจจุบันปกติดีสำหรับทุกวัน มีกวีเอกที่ทุกคนรู้จัก

ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ มีผลไม้หลากหลาย และอร่อยมีบรรยากาศธรรมชาติสวยงาม มีชายหาดที่สวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ (แต่ขาดการพัฒนา) มีป่าไม้สวยงามอุดมสมบูรณ์ ข้าวปลานาน้ำอุดมสมบูรณ์ มีสภาพแวดล้อมหลากหลายมีสัตว์น้ำทางทะเล โลมา ปูม้า ปูดำ กั้งทะเล

ด้านเศรษฐกิจ และสังคม มีเศรษฐกิจดี สังคมดี เป็นพี่เป็นน้อง สระแก้ว เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นประตูบานใหญ่ในเรื่องเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม มีบุคลากรที่หลากหลาย มีกลุ่มอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง มีคำขวัญของแต่ละจังหวัดที่บ่งบอกคุณค่าของตะวันออกอย่างชัดเจน

แต่ในปัจจุบัน ภาคตะวันออก กำลังประสบปัญหาใหญ่ๆ หลายประการ เช่น การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมปัจจุบันที่ไม่มีขีดจำกัดส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ชุมชนการผังเมือง การแพร่ระบาดของมลพิษ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่ผลิตอาหารของตะวันออก นำไปสู่ปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งผลิตอาหาร การทำลายห่วงโซ่อาหารในแหล่งน้ำธรรมชาติ การไม่สามารถกำกับติดตามควบคุมการก่อมลพิษของโรงงาน และชุมชนอย่างใกล้ชิด จึงมีการลักลอบทิ้งกากของเสีย หรือของเสียอันตรายก่อเกิดแหล่งมลพิษเพิ่มขึ้น นานวันก็ยิ่งสะสม และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ และชีวิตความเป็นอยู่ปกติของชุมชน และเพิ่มความขัดแย้ง

ปัญหาการลอบฆ่าผู้นําชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน และปัญหาการฟ้องร้องจากหน่วยงานรัฐโดยไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของพื้นที่ที่ถูกลักลอบทิ้งวัตถุอันตราย (หนองแหน ท่าตูม บ้านพระ นาวังหิน มาบไผ่ ฯลฯ) ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ การขาดแคลนน้ำ น้ำอยู่ในท่อ จากแหล่งน้ำต้นทุนไปยังอุตสาหกรรม การแย่งชิงน้ำในภาคการเกษตร

ปัญหาโครงการต่างๆ ที่เกิดจากแผนงานการพัฒนาต่างๆในช่วงระยะนี้ (ช่วงการเปลี่ยนแปลง) ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เช่น การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำและทางบก โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท ทางด่วนบูรพาวิถี ชลบุรี-พัทยา มอเตอร์เวย์ แหลมฉบัง หนองคาย (เฟสแรก : แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี)

ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่รวมศูนย์อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ที่ยังคงกำหนดแบบบนลงล่าง อีกทั้งชนชั้นนำของสังคมมีโอกาสในการกำหนดการพัฒนามากกว่า ในขณะเดียวกัน คนตะวันออกส่วนใหญ่ยังขาดโอกาสกำหนดการพัฒนาที่ตรงประเด็นความต้องการอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริง

โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนรู้สึกเหมือนเป็นหุ่นยนต์ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ปัญหาจากนโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงานที่ไม่เหมาะต่อศักยภาพพื้นที่ ส่งผลต่อราคาอาหารในอนาคต และส่งผลกระทบต่อคน และพื้นที่ผลิตอาหาร ปัญหาเกษตรเคมี พืชGMO และสัญญาข้อตกลง FTA เกษตรพันธสัญญา โดยขาดการเตรียมความพร้อม และสร้างความเข้าใจการเปิดเสรี AEC ภาษีนําเข้า 0% การเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน อาชีพ แรงงาน และการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ถือว่าเป็นปัญหาหลักของภาคตะวันออก เนื่องจากทิศทางการพัฒนาที่มีการส่งเสริมให้ขยายการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยไม่มีการประเมินขีดจำกัด และศักยภาพทรัพยากรธรรมชาติ สังคม สิ่งแวดล้อม(SEA) ที่จะรองรับ ความพยายามแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดของภาคตะวันออก เพื่อให้เอื้อต่อสิทธิการลงทุนของปัจเจกมากกว่าการสร้างสมดุลในการใช้ประโยชน์พื้นที่ ความไม่สมดุลระหว่างกิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับระบบนิเวศ ส่งผลเกิดอุทกภัย และกระทบความเป็นอยู่ของชุมชน

การไม่สามารถกำกับติดตามควบคุมการก่อมลพิษของโรงงาน และชุมชนอย่างใกล้ชิด จึงมีการลักลอบทิ้งกากของเสีย หรือของเสียอันตรายก่อเกิดแหล่งมลพิษเพิ่มขึ้น นานวันก็ยิ่งสะสม และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ และชีวิตความเป็นอยู่ปกติของชุมชน และเพิ่มความขัดแย้ง การไม่มีศักยภาพของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอต่อการค้นหาพิสูจน์ต้นเหตุปัญหาให้เป็นที่ปรากฏและเกิดการรับรู้อย่างเท่าทัน รวมถึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่พบได้เองในจังหวัด ต้องพึ่งพาหน่วยงานราชการจากส่วนกลางซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า

รวมถึงการไม่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างเป็นระบบ และขาดการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง โดยไม่สะท้อนเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นปัญหาให้เป็นที่รับรู้ของผู้คนในวงกว้าง ทำให้การพิจารณา การปรึกษาต่างๆอยู่ในกลุ่มคนที่จำกัด และทำให้ขาดพลังสังคมเข้าร่วมช่วยกันคลี่คลาย และหลายกรณีชุมชนเป็นผู้ถูกกระทำ และต่อสู้ปัญหาผลกระทบอย่างโดดเดี่ยว จนไม่มีความเชื่อมั่นในการทำงานของราชการในที่สุด และขาดแผนงานรองรับการคุกคามสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ใหม่ เช่น ไม่มีมาตรการควบคุมจำนวนการตัดไม้ใหญ่ทำไม้ท่อนขาย ไม้ร่มเงาหมดสิ้นรวดเร็วก่อผลให้เกิดความแห้งแล้ง

ดังนั้น พวกเราจึงขอเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยขอให้มีการปฏิรูปเรื่องกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสัดส่วนในการกำหนดผังเมือง และมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และลงโทษอย่างจริงจัง รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการจัดการตนเองด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกด้านต่อชุมชน สังคม ท้องถิ่น และวัฒนธรรม ออกกฎหมายทุกด้าน ทั้ง ชุมชน สังคม ท้องถิ่น วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความสอดคล้อง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง (ดิน น้ำ ป่า) สิทธิชุมชน โดยมีสภาพลเมืองมีบทบาทในการพัฒนาแผนที่จะเข้ามาในภาคตะวันออก

พร้อมทั้งเสนอให้เกิดกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจรายย่อย ดูแลชุมชนท้องถิ่น และสวัสดิการชุมชนให้ยั่งยืน จัดการหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องต่อวิถีของชุม (หลักสูตรท้องถิ่น) และจัดตั้งกองทุนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพโดยส่วนกลาง สนับสนุนด้านเงินทุน การตลาด และศูนย์เรียนรู้/ปราชญ์ชาวบ้าน และสนับสนุน และประกาศเป็นนโยบายของชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น