xs
xsm
sm
md
lg

เล็งพัฒนาดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ จ.ขอนแก่น แบบครบวงจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีประชุมตามโครงการ “พัฒนารูปแบบการบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น” ที่ห้องประชุมสว.2 โรงพยาบาลศรีนครินทร์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มูลนิธิตะวันฉายผนึกคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ อบจ.ขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบ หวังขยายการรักษาผู้ป่วยให้ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การเข้าสังคม หวังให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขทั้งร่างกาย และจิตใจ

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ห้องประชุม สว.2 ชั้น 3 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มข. และองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จัดประชุมตามโครงการ “พัฒนารูปแบบการบริการที่สมบูรณ์แบบ เพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ใน จ.ขอนแก่น” โดยมีผู้ปกครองผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาว์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉาย เปิดเผยว่า ภาวะความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ เป็นความพิการแต่กำเนิด พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการศึกษาพบอัตราการเกิดอุบัติการณ์ในผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ภาคอีสานประมาณ 2.5 รายต่อเด็กแรกเกิด 1,000 ราย ซึ่งเป็นอุบัติการณ์สูงที่สุดในโลก โดย จ.ขอนแก่นมีอุบัติการณ์เด็กแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ประมาณ 60-70 รายต่อปี แต่มีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ที่รับการรักษาในศูนย์ตะวันฉายประมาณ 20% เท่านั้น

ยังมีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ทั้งรายใหม่และรายเก่าที่ยังไม่ได้เข้าถึงการรักษา ก่อให้เกิดผลกระทบในการดูแลปัญหาสุขภาพ เกิดความเครียด วิตกกังวลต่อผู้ปกครองและครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งปัญหาการขาดโอกาสเข้าถึงบริการเฉพาะทางที่มีคุณภาพของภาครัฐ จึงมีการนำเสนอโครงการพัฒนารูปแบบการบริการที่สมบูรณ์แบบ เพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้าใน จ.ขอนแก่น

โดยโครงการได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขอนแก่น ในการจัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และครอบครัวมีความสมบูรณ์ที่สุด ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา การดำรงชีวิต ด้านการเข้าสังคม และด้านการสร้างพลังอำนาจ

โดยทีมสุขภาพระดับชุมชนเชื่อมโยงกับศูนย์ดูแล และระบบการบริหารสาธารณสุข ที่เป็นระบบและมีประสิทธิผล โดยการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ครอบครัว และทีมสุขภาพระดับชุมชนทุกภาคส่วน

นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ.ขอนแก่น กล่าวว่า อบจ.ให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ต่อเนื่องปีที่ 2 เพราะเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ สำหรับการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่เป็นการลงลึกถึงชุมชนที่ผู้ป่วยและครอบครัวอาศัยอยู่ โดยในปีนี้จะมีการพัฒนาให้สมบูรณ์ทุกด้าน ซึ่งจะมีการเน้นด้านการศึกษา และการส่งเสริมอาชีพเข้าไป ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงชุมชนและครอบครัวได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่อย่างครบวงจร โดยมีศูนย์ตะวันฉายเป็นกลไกให้บริการดูแลรักษาอย่างครบวงจร โดยทีมสหวิทยาการมาร่วมดูแล เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาและฟื้นฟูด้วยวิทยาการที่ถูกต้อง แบบสหวิทยาการอย่างครบวงจร ให้หายหรือใกล้เคียงภาวะปกติ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขทั้งร่างกาย และจิตใจ




ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาว์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น