น่าน - สสจ.น่านสั่งทีม SRRT ท่าวังผาตรวจสอบซากแมงมุม พร้อมนำส่งพิสูจน์ให้ชัดเจน เบื้องต้นอาจเป็นแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลจริง แต่ยืนยันไม่อันตรายอย่างที่เป็นข่าว
วันนี้ (25 ก.ค.) นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน สั่งการให้ นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวังผา ร่วมกับ นพ.อิฏฐผล เอี้ยววงษ์เจริญ นายแพทย์ชำนาญการงานระบาดวิทยา สสจ.น่าน นายธัญญา วิเศษสุข สาธารณสุขอำเภอท่าวังผา และหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าตรวจสอบซากแมงมุมที่คาดว่าจะเป็นแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล ที่บ้านนายเอกภพ ตันตา เลขที่ 248 ม.4 บ้านสบยาว ต.ท่าวังผา จ.น่าน
นพ.อิฏฐผลเปิดเผยว่า หลังจากการตรวจสอบซากแมงมุมแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะเป็นแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล โดยขณะนี้จะนำซากส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทราบผลที่ชัดเจนได้ภายในระยะเวลา 7-14 วัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นแมงมุมที่มีพิษมากกว่างูเห่าถึง 3 เท่า แต่ตัวแมงมุมซึ่งมีขนาดเล็กก็ทำให้พิษมีปริมาณที่เล็กน้อยมาก และมีผลต่อระบบประสาทเท่านั้น แผลที่โดนกัดก็ไม่เป็นเนื้อตาย คนที่ถูกแมงมุมชนิดนี้กัดจะรู้สึกระคายเคืองบริเวณที่โดนกัด หากรักษาอย่างถูกวิธีก็ไม่เป็นอันตราย
“ขอแนะนำว่าหากถูกแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลกัดให้ใช้น้ำสะอาดและสบู่ล้างบริเวณแผล ประคบด้วยน้ำแข็ง ห้ามใช้ของร้อน เช่น ยาหม่องเด็ดขาด ส่วนในรายที่มีอาการแพ้พิษ หากบวมแดงผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง และให้ทำความสะอาดบริเวณบ้าน ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แมงมุมมาทำรังได้”
นพ.อิฏฐผลกล่าวว่า สำหรับแมงมุมที่มีพิษรุนแรงจริงจะเป็นแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล ซึ่งแมงมุมชนิดนี้จะมีพิษทางระบบเนื้อเยื่อและเลือด ทำให้เม็ดเลือดแตก เลือดจับตัวเป็นก้อนทั่วร่างกาย ทำให้ไต ตับวายเสียชีวิตได้ ซึ่งยังไม่มีรายงานว่าพบแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลในประเทศไทย ประชาชนที่สนใจหรือต้องการความรู้เรื่องแมงมุมมีพิษ ศึกษาได้จาก WWW.dst.or.th และที่ www.siamensis.org/article/252