xs
xsm
sm
md
lg

ชาวมุกดาหารเฮ! คสช.ให้เป็น 1 ใน 5 เขต ศก.พิเศษชายแดน หวั่นทุนท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จังหวัดมุกดาหารเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมากหลังเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมกับแขวงสะหวันนะเขต
มุกดาหาร -ภาคธุรกิจมุกดาหารขานรับประกาศ คสช.ให้เป็นหนึ่งใน 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษชานแดน หลังรอเก้อกันมานานกว่า 10 ปี มั่นใจศักยภาพทำเลที่ตั้งเชื่อมโยงการค้า ขนส่งได้รอบทิศทั่วโลก เดินหน้าเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่นักธุรกิจเป็นห่วงทุนท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน สูญเสียโอกาสให้แก่ทุนใหญ่ต่างถิ่น

จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเห็นชอบตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เสนอให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทย ใน 5 จังหวัดชายแดน เพื่อให้สามารถก้าวเข้าสู้ประชาคมอาเชียนได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2558

ประกอบด้วย 1.ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก ติดกับประเทศพม่า 2.ด่านศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ติดกับประเทศกัมพูชา 3.ด่านศุลกากร อำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด ติดกับประเทศกัมพูชา 4.ด่านศุลกากรมุกดาหาร ติดกับ สปป.ลาว 5.ด่านศุลกากรสะเดา และด่านปาดังเบชาร์

นายสกลสฤษฎ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ระบุว่า จ.มุกดาหาร เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในจุดเส้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ที่จะเชื่อมโยงไปประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ต่อเนื่องไปยังท่าเรือต่างๆ ในประเทศเวียดนาม เชื่อมโยงในทวีปต่างๆ ทั่วโลก

จ.มุกดาหาร ก็ได้เตรียมการในส่วนต่างๆ ล่วงหน้าพอสมควร ทั้งการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน การประชุมเตรียมความพร้อมของส่วนราชการทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ให้ได้ทราบถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า จะต้องการเตรียมความพร้อมที่จะทำความเข้าใจกับภาคเอกชนและนักลงทุนทั้งหลายว่า มีความต้องการที่จะได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุนด้านใดบ้าง

“จังหวัดมุกดาหาร ได้ประสานเตรียมการเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคม โดยถนนที่มุ่งหน้ามายังมุกดาหาร สามารถมาได้หลายทางทุกภูมิภาคได้โดยง่าย เส้นทางภายในประเทศที่มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง นอกจากนี้ ก็ยังเชื่อมโยงไปประเทศเพื่อนบ้านตามถนนหมายเลข 9 ของ สปป.ลาว”

นายภมร เชาว์ศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า จ.มุกดาหาร มีความคล้ายกับด่านสะเดา เพราะเป็นที่พักสินค้าที่จะผ่านไปยังประเทศที่ 2 และ 3 ปัจจุบันสินค้าที่ส่งออกก็เป็นพวกผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะผ่านประเทศลาว เวียดนาม ไปประเทศจีนตอนใต้ การส่งออก ปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 98,0000 กว่าล้านบาท ปี 2556 ประมาณ70,000 กว่าล้านบาท ปี 2557 6 เดือน ประมาณ 32,000 กว่าล้านบาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจาก คสช. เข้ามาคุมอำนาจบริหาร 6 เดือนสุดท้าย น่าจะใกล้เคียงกับปี 2556 หรืออาจะดีกว่าประมาณ 80,000 ล้านบาท

ส่วนเรื่องสนามบิน หากจะให้ยั่งยืนก็น่าจะปรับปรุงใช้สนามบินเลิงนกทา จ.ยโสธร สามารถใช้ร่วมกันระหว่าง มุกดาหาร อำนาจเจริญ และยโสธร ซึ่งแต่ละจังหวัดห่างประมาณ 50-60 กิโลเมตร ไม่ไกลมาก ส่วนรถไฟรางคู่ก็เป็นไปตาม คสช. กำหนด 5 ข้อ ก็คงคิดว่ารัฐบาลต่อไปก็จะทำตามนโยบายนี้ สุดท้ายก็ขอขอบคุณ คสช. ที่ประกาศให้จังหวัดมุกดาหาร เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งควรจะมีมานานแล้ว เพื่อจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้น

“หากเรารุกช้า จีน-เวียดนาม ก็จะรุกเข้ามาครองตลาดแทน ซึ่งในปี 2558 จะเปิด AEC เชื่อว่า 2-3 ปีแรกๆ ความตื่นตระหนกความกล้วไม่กล้าเปลี่ยนแปลงก็คงจะรอเรื่องกฎหมายต่างๆ แต่หลัง 3 ปี หลังจากนั้นก็คงจะดีขึ้นตามลำดับ”

ด้านนายธนโชติ โชติบุณยศักดิ์ นักธุรกิจชาวมุกดาหารให้ทรรศนะว่า สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทาง คสช. ได้ประกาศออกมาทั้งหมด 5 จังหวัด 6 ด่าน ก็จะกำหนดสิทธิพิเศษต่างๆ ขึ้นในแต่ละด่าน มีความแตกต่างกัน สำหรับจังหวัดมุกดาหาร ก็มีความคึกคักในเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมากมาย มุกดาหาร ควรจะเน้นหนักเรื่องของลอจิสติกส์ คลังสินค้าและบริการ จะเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจต่อไป

แตกต่างกับด่านแม่สอด และด่านอรัญประเทศ ตรงนั้นเขาใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ส่วนมุกดาหาร เป็นเรื่องของการส่งสินค้าออก ฉะนั้นในส่วนของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างจังหวัด ต่างถิ่นเข้ามาลงทุน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการสร้างตึก อาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก และหลายโครงการ จำนวนโครงการที่ขึ้นมาราคาค่อนข้างสูง

ส่วนธุรกิจที่น่าสนใจก็เป็นเรื่องของการบริการ สถานที่พัก คลังสินค้า ธุรกิจห้องเย็น บรรจุภัณฑ์ ส่วนนักธุรกิจท้องถิ่นก็คงได้รับผลกระทบด้วย และได้ผลประโยชน์ด้วย ผลประโยชน์คือ รับสิ่งใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและเข้ามาเห็นช่องทางการค้า

จริงๆ แล้วตอนนี้กำลังมีปัญหา เพราะมีธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาในจังหวัดมุกดาหารค่อนข้างมาก เช่น ห้างค้าปลีก ค้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งทำให้นักธุรกิจท้องถิ่นหลายรายประสบปัญหาในการแข่งขัน

ดังนั้น พวกเราต้องเร่งปรับตัว เพราะได้โอกาสจากทาง คสช.แล้ว สำหรับนักลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาหลายกลุ่มจะเน้นหนักในเรื่อง การบริการ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โรงแรมมีเปิดใหม่อีก 2,000 ห้อง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3,000 ห้อง ค่อนข้างมาก ปลายปีนี้ก็จะมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดอีก 2 แห่ง ซึ่งมีทั้งผลดี และผลเสีย หากต้องการอยู่รอด ธุรกิจท้องถิ่นต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

จ.มุกดาหาร มีรายได้ค่าเฉลี่ยต่อคนเป็นอันดับที่ 4 ของภาคอีสาน รายได้ประชากรอยู่ที่ 60,000 บาท/คน ซึ่งค่อนข้างต่ำ รายได้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรประมาณ 2 หมื่นล้านบาท มีอ้อย ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ธุรกิจรายย่อยที่ได้รับผลกระทบปิดตัวไปแล้วหลายราย ประสบปัญหาต้นทุน และการแข่งขัน

ส่วนเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับสิทธิพิเศษในส่วนของภาษีอากร และการบริการแบบเบ็ดเสร็จ การปล่อยสินค้าข้ามแดนอาจจะเป็นจุดใดจุดหนึ่ง อนาคตอันใกล้นี้ต้องเสนอตำบลในรอบเมืองให้รวมกับเทศบาล เพื่อยกฐานะเป็นเทศบาลนคร จะได้มีความชัดเจนเรื่องงบประมาณพัฒนามากขึ้น

ส่วนแรงงานต่างด้าวปัจจุบันแรงงานต่างด้าวจะเดินทางเข้ามาในไทย มี 2 แบบ คือ ขอวีซ่าเข้ามาทำงานถูกต้อง โดยผ่านบริษัทจัดหางาน การลักลอบเข้ามา และก็มาขึ้นทะเบียน ตอนนี้ทางหอการค้าได้เสนอการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ให้เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด กับเจ้าแขวง โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ ให้ออกหนังสือผ่านแดน 30 วัน ให้สามารถผ่านแดนเข้ามาได้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 เปิด 6 โมงเช้า ปิด 4 ทุ่ม

แรงงานสามารถผ่านแดนเข้ามาแบบเข้าเช้า กลับเย็นได้ ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาที่หนักใจ มุกดาหาร เป็นจังหวัดเล็ก มีประชากร 350,000 คน ดังนั้น การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นประเด็นที่มองข้าไม่ได้สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ขณะที่เรื่องของลอจิสติกส์ ก็เป็นประเด็นใหญ่ เพราะว่า 5 จังหวัด 6 ด่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมี 2 รูปแบบ ที่ด่านมุกดาหาร กับด่านสะเดา จะเหมือนกัน คือ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม จะอยู่จังหวัดอื่นๆ สินค้าทางภาคใต้ก็จะออกทางด่านสะเดา ไปขึ้นเรือที่ปีนัง ทำให้การค้าชายแดนสะเดาสูง เหมือนกับมุกดาหาร สินค้าทุกอย่างก็มาทางอื่น ประมาณ 90% ที่มาผ่านด่านมุกดาหาร

อย่างไรก็ตาม เมื่อ จ.มุกดาหาร เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ถนนก็ต้องพัฒนาเป็น 4 เลน หัวใจของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ การลดต้นทุนการขนส่ง ประเทศไทยต้นทุนขนส่งอยู่ประมาณ 20% ถ้าเราลดต้นทุนได้อีกอย่างน้อยประมาณ 8% ก็จะสามารถทำให้ต้นทุนของสินค้าต่ำลง ก็จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น